เตรียมตัวตั้งครรภ์อย่างไร? ให้คุณแม่คลอดปลอดภัยและลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์

โปรแกรมเตรียมพร้อมตั้งครรภ์ โรงพยาบาลกรุงไทย

การเตรียมสุขภาพให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดความกังวลของทั้งคุณพ่อ คุณแม่ลงได้ และจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดี ประกอบกับมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงด้วย

การเตรียมตัวตั้งครรภ์ไม่เพียงเป็นการเตรียมตัวเมื่อตั้งครรภ์แล้วเท่านั้น แต่ควรมีการเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนแต่งงาน หรือเมื่อพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เพราะคู่แต่งงานอาจมีโรคที่ซ่อนอยู่และอาจมีผลต่อทารกน้อยได้ด้วย การวางแผนตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ก่อนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ การตรวจครรภ์ ไปจนถึงการวางแผนการคลอดจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ของลูกน้อยและให้คุณแม่คลอดปลอดภัย และเพื่อให้ลูกน้อยเป็นสมาชิกใหม่ที่น่ารักของครอบครัว

สารบัญ

การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร?

การตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ ทั้งเรื่องร่างกาย เรื่องจิตใจ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ดังนั้นคุณแม่ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือหญิงที่แต่งงานแล้วและพร้อมหรือมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ควรมีการเตรียมสุขภาพร่างกาย และสภาวะจิตใจและอารมณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะการมีสุขภาพที่ดีของคุณแม่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจจะส่งผลดีต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อยในครรภ์ ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้ง ภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายเพราะอาจทำให้แท้งหรือทำให้เกิดภาวะชักของแม่ขึ้นได้ หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย

นอกจากนี้ในกรณีที่คุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปีหรือมีโรคประจำตัวหรือโรคที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ ยิ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

และไม่เพียงคุณแม่เท่านั้นที่ต้องเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ ฝ่ายชายหรือคุณพ่อก็ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยเช่นกัน เพราะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะทำให้การครรภ์ประสบได้ง่ายขึ้นได้ด้วย

เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร

การดูแลตัวเองก่อนตั้งครรภ์

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ วิธีเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์โดยเฉพาะความพร้อมของคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้ 

  1. วางแผนเกี่ยวกับการมีบุตร เช่น จะมีกี่คน ห่างกันกี่ปี หลังจากนั้นจะคุมกำเนิดอย่างไร เป็นต้น
  2. พบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพและรับคำแนะนำเกี่ยวกับโรคประจำตัว พฤติกรรมสุขภาพ การฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เช่น MMR เพื่อป้องกันหัดเยอรมัน เป็นต้น
  3. เสริมโฟลิก การเสริมกรดโฟลิกควรเริ่มทันทีที่วางแผนมีบุตรเพื่อสะสมระดับโฟเลตในร่างกายให้มีเพียงพอและทันต่อการตั้งครรภ์ในช่วงแรก เนื่องจากทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างอวัยวะตั้งแต่อายุประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงเวลานี้คุณแม่อาจยังไม่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์อาจทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์ได้ และการเสริมโฟลิกหลังช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกได้ โดยคุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายโฟลิกหรือแนะนำปริมาณโฟลิกที่เหมาะสม
  4. หยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า และหยุดใช้ยาที่มีผลกระทบต่อทารก เช่น ยาในกลุ่มอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงสารพิษและสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว มูลสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เป็นต้น
  6. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป 
  7. บันทึกประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์
  8. หมั่นดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ของตัวเอง ไม่เครียด กดดัน หรือกังวลมากจนเกินไป เพราะความเครียดหรือสภาวะทางอารมณ์มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ทั้งของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ คัดกรองโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารก และป้องกันความผิดปกติหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ได้  โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์จะประกอบด้วย 

  1. ประเมินสุขภาพโดยรวมของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของฝ่ายหญิง
  2. ตรวจโรคติดต่อต่าง ๆ ทั้งของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่จะแพร่หรือมีผลกระทบไปยังทารกในครรภ์ได้ เช่น HIV ซิฟิลิส ไวรัสตับอีกเสบบี หัดเยอรมัน เป็นต้น เพราะการทราบประวัติการติดเชื้อตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการดูแลและป้องกันทารกไม่ให้มีการติดเชื้อได้
  3. ตรวจโรคทางพันธุกรรม เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์

การฝากครรภ์จำเป็นอย่างไร?

เนื่องจากการตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั้งร่างกายของคุณแม่ และของทารกในครรภ์ นอกจากนี้การพัฒนาการของทารกในแต่ละไตรมาสก็มีความแตกต่างกัน การฝากครรภ์จะช่วยให้คุณแม่สามารถติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกได้อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงจะการเสริมสร้างวิตามินและสารสำคัญต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตของทารกในครรภ์โดยคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งทำให้คุณแม่มั่นใจได้ถึงความเหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณและเวลาการได้วิตามินและสารสำคัญต่าง ๆ ว่าเหมาะสมและครบถ้วนต่อทารกในครรภ์ 

และหากเป็นคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือคุณแม่ที่มีความเสี่ยง หรือตั้งครรภ์แฝด ยิ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้การฝากครรภ์เร็วจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเตรียมคลอดอย่างมาก การฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามนัดจึงเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรละเลย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง พัฒนาการที่ดีของทารก และเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ด้วย

การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์

การดูแลครรภ์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการและสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดอัตราการแท้งและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยคุณแม่ควรดูแลด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ทั้งนี้อาจมีคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประมานอาหารประเภทต่าง ๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างจากก่อนตั้งครรภ์ 
  • งดอาหารรสจัด
  • งดการสูบบุหรี่
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย
  • งดการใส่รองเท้าส้นสูง
  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่อึดอัด ระบายอากาศได้ดี
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานวิตามิน หรือยาบำรุงตามคำแนะนำของแพทย์
  • ดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูน
  • หลีกเลี่ยงการทำงานที่มีการยกของหนัก
  • ดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ
  • ดูแลทรวงอก และหน้าท้อง
  • ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ 
  • สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยท่าที่เหมาะสม หากไม่มีข้อห้าม หรือตามคำแนะนำของแพทย์

อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่ต้องรีบมาพบแพทย์

  • มีอาการปวดเกร็งท้อง ท้องแข็ง
  • มีเลือดออกผิดปกติ
  • เปลือกตาบวม
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
  • ตามัวหรือตาพร่า
  • ปวดศีรษะบริเวณหน้าผากและขมับขวา
  • มีปัสสาวะผิดปกติหรือปัสสาวะไม่ออก
  • ลูกดิ้นน้อย

การดูแลครรภ์ในไตรมาสแรก

ในช่วงไตรมาสแรกหรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการสร้างและฝังตัวของรกในโพรงมดลูก การสร้างอวัยวะของทารก ช่วง 3 เดือนนี้หัวใจจะเริ่มทำงานโดยสามรถเห็นการเต้นของหัวใจได้ผ่านการอัลตราซาวนด์ ร่างกายของคุณแม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเติบโตของทารกครรภ์  

ดังนั้นการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจึงจำเป็นและสำคัญมากในช่วงไตรมาสแรกนี้ ขนาดของท้องของคุณแม่จะยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เจ็บเต้านม และอาจมีอาการทางอารมณ์เกิดขึ้นได้ เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด โดยอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แต่หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง เช่น อาเจียนบ่อยครั้งอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ควรรีบปรึกษาแพทย์

การดูแลครรภ์ในไตรมาส 2

ในช่วงไตรมาสที่สอง (เดือนที่ 4-6) ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะรู้สึกดีขึ้น แพ้ท้องน้อยลงหรือแทบไม่มีเลย เต้านมเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ขนาดท้องโตขึ้นจนสังเกตเห็นได้ และอาจเริ่มเกิดท้องลาย จึงควรเริ่มป้องกันด้วยการรักษาความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวหนัง ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ทารกจะเริ่มขยับตัว เริ่มได้ยินเสียง และมีการตอบสนองต่อเสียง คุณแม่ควรฝึกสังเกตการขยับตัวของทารก เพราะจะช่วยบอกสภาวะการเจริญเติบโต และช่วยประเมินความแข็งแรงของทารกได้ด้วย อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรไปตรวจครรภ์ตามนัดของแพทย์เพิ่อประเมินสุขภาพทั้งของคุณแม่และความสมบูรณ์แข็งแรง และพัฒนาการของทารกในครรภ์

ดูแลครรภ์ไตรมาส 3

ไตรมาสที่ 3 (เดือนที่ 7-9) เป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว เนื่องจากขนาดท้องที่โตและหนักขึ้นมาก จนอาจทำให้มีอาการปวดหลัง แสบยอดอกจากกรดไหลย้อน ปัสสาวะบ่อยครั้ง ท้องผูก ขาบวม หายใจตื้น หายใจได้ไม่ลึก ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย เป็นต้น ในไตรมาศที่ 3 นี้คุณแม่อาจนอนลำบากขึ้น ซึ่งอาจต้องนอนในท่านอนตะแคง 

ในช่วงนี้ทารกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เริ่มลืมตา และเริ่มมีการใช้อวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น เช่น มีการใช้กล้ามเนื้อกะบังลมเพื่อฝึกการหายใจ อาจมีการหาว ดูดนิ้ว บิดตัว และขยับแขนขามากขึ้น และในเดือนหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ ทารกจะเริ่มมีการกลับตัวอยู่ในท่าที่เอาศีรษะลงด้านล่าง เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงการขยับตัวของทารกได้ง่ายขึ้น  

การนัดตรวจครรภ์ในไตรมาสที่ 3 จะถี่ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงใกล้ถึงกำหนดคลอด เพื่อประเมินความพร้อมของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

การเตรียมความพร้อมก่อนคลอด

ความแข็งแรงของร่างกายคุณแม่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมก่อนคลอด แต่นอกเหนือจากของพร้อมทางด้านร่างกายแล้วคุณพ่อคุณแม่อาจต้องต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ด้วย

  • เตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ทำความเข้าใจว่าการเจ็บท้องคลอดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกาย เพื่อลดความกังวลก่อนคลอด
  • มาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ประเมินเวลาคลอด รวมไปถึงวางแผนวิธีการคลอดว่าคลอดธรรมชาติ หรือผ่าตัดคลอด เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
  • คุณพ่อคุณแม่ควรจัดกระเป๋าและเตรียมของใช้ทั้งของลูก และของคุณแม่ ไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด เพราะหากมีอาการเจ็บท้องก่อนกำหนดจะได้สามารถไปโรงพยาบาลได้ทันที
  • เตรียมเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแจ้งเกิดไว้ก่อนถึงกำหนดคลอดจริงไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ได้แก่
    • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณแม่
    • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อ
    • เอกสารแสดงสิทธิ์การรักษาพยาบาลหรือประกันสุขภาพ
    • บันทึกการฝากครรภ์
    • สำเนาทะเบียนบ้านที่ต้องการนำชื่อเด็กย้ายเข้า
  • การเตรียมร่างกายสำหรับการคลอด
    • เมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอดจริงให้อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด ก่อนมาโรงพยาบาล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด 
    • ไม่สวมเครื่องประดับต่าง ๆ
    • ไม่ทาเล็บมือ-เท้าเพราะอาจเป็นอุปสรรค์ในการประเมินระดับออกซิเจนของร่างกายของคุณแม่ในขณะคลอด  
    • ตัดเล็บให้สั้นทั้งเล็บมือและเล็บเท้า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ทารกแรกเกิด
    • กรณีใส่ฟันปลอม ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน
    • อาจต้องมีการงดน้ำและอาหารก่อนคลอด (โดยเฉพาะกรณีผ่าคลอด) อย่างไรก็ตามให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่มีการแจ้งไว้
    • ผ่อนคลายระหว่างนอนรอคลอด

หลังคลอดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์ และพยาบาล และหากมีข้อสงสัย หรือปัญหาต่าง ๆ สามารถซักถามหรือปรึกษากับทีมแพทย์และพยาบาลได้โดยตรง

สรุป

การมีสุขภาพที่ดี พัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์ของลูกน้อย ความแข็งแรงและการฟื้นตัวเร็วของคุณแม่หลังคลอดเป็นผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมร่างกายของคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ของทั้งฝ่ายหญิงและผ่ายชาย เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ การฝากครรภ์เพื่อประเมินครรภ์แต่ละไตรมาสอย่างใกล้ชิด การเตรียมตัวก่อนคลอดเพื่อให้การคลอดปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้สมาชิกคนใหม่ของครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาตามวัยที่เหมาะสม และเป็นความสุขของทุก ๆ คนในครอบครัว

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง