“มะเร็ง” โรคร้ายที่หากรู้ก่อน รู้เร็ว สามารถรักษาหายได้

โรคมะเร็งรักษาได้ ถ้ารู้เร็ว

โรคมะเร็ง (cancer) เป็นโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2020  มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งก็นับเป็นสาเหตุอันดับ 1 เช่นกันที่คร่าชีวิตคนไทยติดต่อกันหลายปี กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี 2562 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 84,073 คนต่อปี ทั้งนี้โรคมะเร็งนับเป็นโรคเรื้อรังและร้ายแรง โดยทั่วไปไม่มีอาการที่จำเพาะเจาะจง อาการที่แสดงออกของแต่ละคนมักขึ้นกับชนิดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง โดยที่อาการแสดงที่ชัดเจนมักมีให้เห็นเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม ทำให้การตรวจพบมะเร็งมักอยู่ในระยะที่มีการลุกลามแล้ว ทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นหากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะต้นจึงมีโอกาสที่จะรักษาให้หายเป็นปกติได้มากกว่า

สารบัญ

โรคมะเร็งคืออะไร?

โรคมะเร็ง คือ โรคที่มีการเจริญของเซลล์ที่ผิดปกติ โดยเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วกว่าเซลล์ปกติของร่างกาย และร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้ทัน ทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านี้เพิ่มจำนวนและกลายเป็นเนื้องอกที่ผิดปกติ มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนไปกดเบียดและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ และอวัยวะข้างเคียง และหากไม่ได้รับการรักษาเซลล์มะเร็งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไปผ่านระบบไหล เวียนเลือดและน้ำเหลือง ทำให้อวัยวะเหล่านั้นมีเซลล์มะเร็งไปเจริญอยู่และแบ่งตัวเป็นเนื้อเยื่อมะเร็งแล้วทำลายอวัยวะนั้น ๆ ซึ่งหากมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะหลาย ๆ ระบบก็จะทำให้การทำงานของร่างกายเสียไป จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด 

ชื่อเรียกโรคมะเร็งในภาษาอังกฤษว่า “cancer” มาจากคำในภาษากรีกว่า “cancinos” ซึ่งแปลว่า ปู (crab) โดยฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า cancer เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีลักษณะการลุกลามออกไปจากตัวก้อนมะเร็งเหมือนกับขาปูที่ออกไปจากตัวปู

แม้ว่ามะเร็งจะเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกของอวัยวะต่าง ๆ อาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป เนื้องอกเหล่านั้นอาจเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ลุกลามไปทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง ทั้งนี้การวินิจฉัยว่าเนื้องอกนั้น ๆ เป็นมะเร็งหรือไม่ ต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้วย

โรคมะเร็งคืออะไร

เนื้องอกชนิดธรรมดากับมะเร็งต่างกันอย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกธรรมดาก็จะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหรือตุ่ม ที่เกิดจากการเจริญและแบ่งตัวที่มากเกินไปของเซลล์ร่างกาย อย่างไรก็ตามเราสามารถแยกความแตกต่างของเนื้องอกธรรมดาและมะเร็งคร่าว ๆ ได้จากลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • เนื้องอกชนิดธรรมดาจะมีลักษณะ 
    • โตช้า การเพิ่มขนาดของก้อนเนื้องอกจะมีค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น
    • เมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจมีการกดเบียดเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง แต่จะไม่ทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ  
    • ก้อนเนื้องอกจะไม่ลุกลามเข้าหลอดเลือด ระบบไหลเวียนเลือด หลอดน้ำเหลือง และระบบไหลเวียนน้ำเหลือง ดังนั้นเนื้องอกชนิดนี้จะไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป
    • รักษาได้ด้วยการผ่าตัด
  • ก้อนมะเร็งจะมีลักษณะ 
    • เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวเร็วจึงทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
    • ลุกลามทำลายอวัยวะข้างเคียงจนอวัยวะนั้น ๆ ทำงานผิดปกติไป
    • ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต
    • เซลล์มะเร็งสามารถลุกลามและแพร่กระจายเข้าสู่หลอดเลือด ระบบไหลเวียนเลือด หลอดน้ำเหลือง ระบบไหลเวียนน้ำเหลือง และอวัยวะต่าง ๆ เช่น  ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก ไขกระดูก หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป
    • มะเร็งมักจะไม่สามารถรักษาหายได้ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ต้องรักษาแบบผสมผสานหลายวิธีร่วมกัน

โรคมะเร็งมีกี่ชนิด?

ปัจจุบันพบว่ามีมะเร็งมากกว่า 100 ชนิด โดยจะเรียกชื่อตามอวัยวะที่เกิดมะเร็งมะเร็ง เช่น 

  • มะเร็งปอด 
  • มะเร็งเต้านม 
  • มะเร็งปากมดลูก 
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก 
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งผิวหนัง
  • มะเร็งไทรอยด์
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งสมอง
  • หรือมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ

หรือเรียกชื่อตามชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง เช่น

  • คาซิโนมา (carcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อบุอวัยวะภายใน เป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากที่สุด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด เป็นต้น
  • ซาโคมา (sarcoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์กระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน กล้ามเนื้อ หรือหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง เช่น มะเร็งกระดูก 
  • ลิวคิเมีย (leukemia) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด เช่น มะเร็งเม็ดเลือด
  • ลิมโฟมา (lymphoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocytes (T call หรือ B cell) เป็นเซลล์ในต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เรียกชื่อมะเร็งชนิดนี้ว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มัลติเปิลไมอิโลมา (multiple myeloma) เป็นมะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดชนิดพลาสมาเซลล์ (plasma cell) ที่เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เซลล์ชนิดนี้จะอยู่ในไขกระดูก ทำให้บางคนเรียกมะเร็งชนิดนี้ว่า มะเร็งไขกระดูก
  • เมลาโนมา (melanoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดสี (melanocyte) ซึ่งอยู่ที่ชั้นผิวหนังและบริเวณม่านตา 
  • มะเร็งระบบสมองและไขสันหลัง (central nervous system cancers) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ประสาททั้งที่อยู่ในสมองและไขสันหลัง
  • เซลล์มะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้แก่
    • Germ cell tumors เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์
    • Neuroendocrine tumors เป็นมะเร็งที่มีเกิดจากเซลล์ที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนและทำงานสัมพันธ์กับระบบประสาทที่เรียกว่า neuroendocrine cell 

ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเรียกชื่อมะเร็งตามอวัยวะที่เป็น แต่ในทางการแพทย์มักแบ่งชนิดของมะเร็งตามชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง เพราะเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดมีการดูแลรักษา และการดำเนินโรคที่ต่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนรักษามะเร็งแต่ละชนิด

โรคมะเร็งที่พบบ่อย

โรคมะเร็ง พบได้ในทุกเพศและทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป  จากข้อมูลที่มีการรายงานโดยองค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถิติอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี 2020 แบ่งตามเพศดังนี้

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย 5 อันดับแรก

  1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  4. มะเร็งต่อมลูกหมาก
  5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย 5 อันดับแรก

  1. มะเร็งเต้านม
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 
  3. มะเร็งปากมดลูก
  4. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  5. มะเร็งปอด

โรคมะเร็งเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่จากข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์พบว่ามะเร็งอาจเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวม ๆ กัน ทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น เพศ พันธุกรรม ปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่าง ๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ปัจจัยภายนอกร่างกายหรือจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายในร่างกาย ดังนี้ 

1. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ด้วยการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือหลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสปัจจัยเหล่านี้ 

  • สารเคมีบางชนิด 
    • สีย้อมผ้า มีสารกลุ่มไนโตรซามิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
    • สารอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นสารพิษจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะในอาหารแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่ว พริกแห้ง ธัญพืชแห้ง  ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งตับ
    • สารเคมีในควันบุหรี่และเขม่ารถยนต์ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งช่องปากและมะเร็งปอด
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับ
    • สารพิษจากเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงแต่ง เช่น รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายชนิด
    • สารเคมีบางชนิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม
  • รังสีต่าง ๆ ได้แก่ กัมมันตรังสี รังสีเอกซเรย์ที่ได้รับเกินมาตรฐาน และรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด เป็นต้น
  • การติดเชื้อเรื้อรัง ได้แก่
    • ไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี และชนิดซี สัมพันธ์กับมะเร็งตับ
    • เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งอยู่ในกระเพาะอาหารสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะอาหาร
    • ไวรัส Ebstein-Barr มีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งโพรงหลังจมูก
    • ไวรัส human papilloma  เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
  • พยาธิใบไม้ตับ ซึ่งจะมากับการรับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี

2. ปัจจัยภายในร่างกาย เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น จะเสี่ยงต่อมะเร็งมากขึ้น
  • พันธุกรรม หากมีประวัติพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องเป็นมะเร็ง จะทำให้มีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากขึ้น
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
  • การการระคายเคืองซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
  • ภาวะทุพโภชนาการ หรือร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจร่างกายโดยแพทย์ หรือในมะเร็งบางชนิดเราสามารถตรวจร่างกายด้วยตัวเองได้เบื้องต้น เช่น มะเร็งเต้านม
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และตรวจเสมหะ เป็นต้น
  • การตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่สงสัยไปตรวจเพื่อดูลักษณะของเซลล์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
  • ตรวจทางรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์เฉพาะอวัยวะ การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น
  • ตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ  เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหาร และลำคอ การตรวจอัลตราซาวนด์อวัยวะต่าง ๆ การตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าอวัยวะต่าง ๆ  เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็ง

มะเร็งระยะแรกมักไม่แสดงอาการ และบ่อยครั้งที่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ อาการของโรคมะเร็งขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • มีไข้
    • มีไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ
    • มีไข้สูงบ่อย ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • มีเลือดออก
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • ปัสสาวะเป็นเลือด
    • อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือมูกเลือด
    • มีรอยจ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย หรือมีจุดแดงตามผิวหนัง
    • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • อาการปวด
    • ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง 
    • ปวดหลังเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ความผิดปกติของระบบประสาท
    • แขนและ/หรือขาอ่อนแรง 
    • มีอาการชัก โดยที่ไม่มีประวัติของโรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการชัก
  • ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
    • ท้องผูกสลับท้องเสีย
    • ท้องอืด ปวดเสียด ท้องเฟ้อแน่น อึดอัดท้อง เป็นเวลานาน
    • น้ำหนักลดลงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
    • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ความผิดปกติอื่น ๆ 
    • กลืนลำบาก 
    • เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
    • แผลหายยาก รักษาไม่หาย
    • มีการเปลี่ยนแปลงของหูดและไฝตามร่างกาย
    • มีก้อนหรือตุ่มต่าง ๆ ตามร่างกาย

7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งอาจไม่มีอาการแสดง หรือหากมีอาการก็อาจไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเป็นมะเร็งชนิดใด ดังนั้นหากสงสัยว่ามีอาการของโรคมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน โดยอาการเบื้องต้นที่อาจเป็นอาการของโรคมะเร็ง ได้แก่  

  1. มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรังไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หลังการดูแลรักษาเบื้องต้น
  2. เสียงแหบ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ หรือเสมหะปนเลือด
  3. กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงโดยจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  5. ระบบขับถ่ายแปรปรวน มีการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม
  6. ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง มีลักษณะของหูด ไฝ ปาน โตขึ้น หรือผิดปกติ หรือเป็นแผลแตก
  7. มีเลือดหรือของเหลวผิดปกติไหลออกจากร่างกาย เช่น เลือดกำเดาออกเรื้อรัง (อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้) มีตกขาวผิดปกติ มีเลือดหรือของเหลวออกจากหัวนม เป็นต้น
สัญญาณบ่งบอกของโรคมะเร็ง

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง?

แม้ว่ามะเร็งจะเป็นโรคที่บอกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคที่แน่ชัดไม่ได้ แต่จากความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันพบว่ามะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวม ๆ กัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คือปัจจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่น ๆ 

ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งก็มีทั้งปัจจัยภายในร่างกายและปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยปัจจัยภายในร่างกายบางอย่างเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม ดังนั้นหากมีความเสี่ยงทางด้านร่างกายอยู่เดิมแล้ว ควรควบคุมและหลีกเลี่ยงปัจจัยสิ่งจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีสารประกอบหรือมีสารก่อมะเร็ง ไม่ไปสัมผัสสารเคมีที่อันตรายต่าง ๆ ป้องกันการติดเชื้อที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง เป็นต้น ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและลดโอกาสการเกิดมะเร็งลงได้

ระยะของโรคมะเร็ง

ระดับความรุนแรงของโรค ประเมินได้จากการลุกลาม และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1  ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
  • ระยะที่ 2  ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
  • ระยะที่ 3  ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
  • ระยะที่ 4   อาการรุนแรงมากขึ้น 
    • ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก
    • ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงจนทำให้มีแผลเลือดออก หรือเป็นแผลเปิดและ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้อวัยวะที่เป็นมะเร็ง จนคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต  
    • มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และ/หรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต หรือต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งติดต่อได้หรือไม่?

โรคมะเร็งเป็นโรคไม่ติดต่อ ดังนั้นการไปสัมผัส พูดคุย หรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงไม่ทำให้เป็นมะเร็งไปด้วย อย่างไรก็ตามมะเร็งบางชนิดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น มะเร็งปากมดลูก ที่เกิดจากไวรัสเอชพีวี (HPV virus) มะเร็งตับที่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ หรือมะเร็งกระเพราะอาหารที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pyrori เป็นต้น แม้ว่าการติดเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งเสมอไปแต่จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งมากขึ้น ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงนับได้ว่าเป็นการป้องกันมะเร็งได้อีกวิธีหนึ่ง

คัดกรองโรคมะเร็งอย่างไรได้บ้าง?

การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และจะทำให้การรักษาไม่ซับซ้อนและให้ผลการกรักษาที่ดี ซึ่งในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งมักจะอยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพ หรืออาจมีโปรแกรมตรวจสุขภาพเฉพาะโรคมะเร็งนั้น ๆ เพื่อการตรวจที่ละเอียดและแม่นยำมากขึ้น  ซึ่งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็งทำได้โดย

  • การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP
  • การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ CEA
  • การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก PSA
  • การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม CA153
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ThinPrep Pap Test

การรักษาโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ระยะของโรคและความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายวิธีประกอบกันเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ความสำเร็จในการรักษามักจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผลการรักษาจะดีกว่า การตรวจพบและรักษาที่ระยะรุนแรงแล้ว โดยวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไป มีดังนี้

  • การผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออก
  • การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การใช้เทคโนโลยีรังสีรักษา เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง
  • การใช้ฮอร์โมนบำบัด เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • รักษาแบบผสมผสาน เป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค

โรคมะเร็ง รักษาหายหรือไม่

มะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ อย่างไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

  • ระยะของโรค
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • การผ่าตัดสามารถเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่
  • การตอบสนองของมะเร็งต่อการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ
  • อายุและสุขภาพของผู้ป่วย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นการรักษาตั้งแต่ระยะแรกหรือรักษาตั้งแต่ยังไม่มีอาการจะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ดังนั้น การตรวจสุขภาพ และการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเพราะจะสามารถทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ

การป้องกันโรคมะเร็ง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจง วิธีที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารเคมี รังสีต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยก่อมะเร็งจากสิ่งกระตุ้นภายในร่างกาย เช่น ความเครียด
  • ตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นประจำ

สรุป

มะเร็ง เป็นโรคที่ที่เกิดจากการเจริญโตที่ผิดปกติของเซลล์ร่างกายโดยเซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนมีขนาดใหญ่ และทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ จนการทำงานเสียไป ในระยะรุนแรงมะเร็งอาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงหรืออวัยวะที่อยู่ไกลออกไป จะไปทำนั้นอวัยวะนั้น ๆ เสียการทำงานไปด้วย   

มะเร็งเป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก และมักจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นเมื่อเข้าสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้นแล้ว ทำให้ผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการรักษาช้าจนมะเร็งอยู่ในระยะที่รุนแรง และลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ แล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งแต่ละชนิดตามความเสี่ยงจึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะช่วยให้ตรวจพบและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งโอกาสหายขาดมีสูงกว่า

การรักษาสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยก่อมะเร็งเป็นอีกทางหนึ่งที่สำคัญที่จะลดความเสี่ยง และแนวโน้มการเป็นมะเร็งลงได้ เพื่อให้สุขภาพเราแข็งแรง และห่างไกลจากโรคมะเร็ง

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง