การตั้งครรภ์นับเป็นความมหัศจรรย์ของชีวิตที่เติมเต็มความสุขของครอบครัว ความแข็งแรงสมบูรณ์ของลูกน้อยในครรภ์และของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแล และตรวจพัฒนาการและความสมบูรณ์ของครรภ์อย่างต่อเนื่องจนถึงกำหนดคลอด
การอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์นับเป็นการตรวจที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถบอกได้ถึงสุขภาพครรภ์ ความสมบูรณ์และพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ และลดความเสี่ยงต่อภาวะที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เพื่อให้ลูกน้อยคลอดได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และทารก
สารบัญ
อัลตราซาวนด์ คืออะไร?
อัลตราซาวนด์ (ultrasound) หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นเทคโนโลยีการตรวจทางการแพทย์ที่สามารถสร้างภาพของอวัยวะในร่างกาย และทารกในครรภ์ โดยใช้หลักการการสะท้อนของเสียงที่มีความถี่สูงมาก ซึ่งเป็นเสียงความถี่ที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ โดยจะมีหัวตรวจที่แพทย์ต้องมาวางแนบกับผิวหนังที่ตรงกับตำแหน่งของอวัยวะที่ต้องการตรวจเพื่อเก็บภาพของอวัยวะของทารก และภาพทารกในครรภ์ แล้วแสดงผลเป็นภาพบนจอของเครื่องอัลตราซาวนด์
ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์
เนื่องจากการตรวจอัลตราซาวนด์ทำได้ง่ายและปลอดภัยกับทั้งคุณแม่และทารก และภาพที่ได้จากการอัลตราซาวนด์สามารถบอกรายละเอียดของอวัยวะของลูกน้อยในครรภ์ได้ ทำให้สูติ-นรีแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (maternal fetal medicine หรือ MFM) มักใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินความสมบูรณ์ และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์สามารถบอกได้ถึง
- การยืนยันการตั้งครรภ์
- ตำแหน่งของรก
- โครงสร้างอวัยวะของทารก รวมถึงกระดูกแขน-ขา
- เพศ
- โครงสร้างหัวใจ
- โครงสร้างใบหน้าของทารก
- โครงสร้างกะโหลกศีรษะและสมอง
- ท่าทางของทารก
- ความสมบูรณ์ของทารก
- ลักษณะของน้ำคร่ำ
- อื่น ๆ เช่น ความสมบูรณ์ของครรภ์แฝด เป็นต้น
อัลตราซาวนด์ 2 มิติ
การตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์แบบ 2 มิติ จะเป็นการตรวจที่ได้ภาพทารกในครรภ์เป็นภาพขาวดำที่เป็น 2 มิติ ภาพมีลักษณะเหมือนภาพถ่าย คือเป็นภาพที่มีความกว้างและความยาว ไม่มีความลึก โดยการตรวจแบบนี้จะไม่สามารถเห็นลักษณะหน้าตาของทารก จะเห็นเพียงแค่โครงสร้างที่ลักษณะคล้ายจมูก ตา หรือปาก ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มองภาพยังไม่ออก และอาจต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมจากแพทย์เพื่อให้เห็นภาพได้มากขึ้น
อัลตราซาวนด์ 3 มิติ
การตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์แบบ 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อจากการตรวจแบบ 2 มิติ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยภาพที่แสดงนอกจากจะเห็นภาพที่มีความกว้างและความยาวแล้ว ภาพจะมีความลึกเพิ่มเติมเข้ามา จึงเรียกว่าการตรวจอัลตราซาวนด์ 3 มิติ ภาพที่ได้จะเห็นภาพพื้นผิวด้านนอกของทารกและอวัยวะภายในทารก คุณพ่อคุณแม่จะเห็นหน้าตาของทารกได้ชัดเจนขึ้น เห็นรายละเอียดของอวัยวะของทารกมากขึ้น สามารถเข้าใจรูปภาพได้ง่ายได้กว่าการตรวจแบบ 2 มิติ แต่ภาพที่แสดงจะเป็นภาพนิ่งที่ขยับไม่ได้
อัลตราซาวนด์ 4 มิติ
การตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์แบบ 4 มิติ มีหลักการคล้าย ๆ กับการตรวจแบบ 3 มิติ แต่จะสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย จึงเรียกว่าอัลตราซาวนด์ 4 มิติ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของทารกแบบเรียลไทม์ (real-time) ทำให้สามารถเห็นพฤติกรรมของทารกในครรภ์ได้ เช่น การยิ้ม การขยับแขนขา การหาว การดูดนิ้ว การอ้าปาก นอกจากสามารถเห็นพฤติกรรมของทารกแล้ว ยังสามารถใช้ตรวจโครงสร้างร่างกายของทารกเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ เช่่น ปากแหว่ง จมูกโหว่ เนื้องอกต่าง ๆ ของทารก เป็นต้น
ความผิดปกติที่ตรวจพบได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์สามารถบอกความผิดปกติที่เป็นความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติทั้งหมดของทารกได้ แต่อย่างไรก็ตามสามารถบอกความผิดปกติเหล่านี้ได้ ได้แก่
- ทารกศีรษะโตหรือเล็กผิดปกติ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างทารก
- ความพิการต่าง ๆ เช่น แขนขาไม่ครบ แขนขาสั้นกว่าปกติ
- จำนวนนิ้วมือนิ้วเท้าเกิน
- หัวใจโต
- โครงสร้างของผิดปกติ
- มีน้ำในช่องปอด
ความผิดปกติทางโครงสร้างที่เล็กมาก อาจไม่สามารถตรวจพบได้ และการตรวจอัลตราซาวด์ไม่สามารถบอกถึงพัฒนาการทางสมองของทารกได้
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกไตรมาสที่ 1
เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 11 – 13 สัปดาห์ โดยมีจุดประสงค์
- ยืนยันการตั้งครรภ์
- บอกอายุครรภ์ โดยการวัดความยาวของทารกตั้งแต่ศีรษะถึงกระดูกก้นกบ ซึ่งทำให้สามารถกำหนดเวลาคลอดได้ชัดเจนมากขึ้น
- ตรวจสัญญาณชีพของทารก
- ตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม โดยวัดความหนาของต้นคอและกระดูกจมูกของทารก ร่วมกับการตรวจสารชีวเคมีในเลือดของแม่
- ตรวจความผิดปกติของมดลูกและปีกมดลูก
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกไตรมาสที่ 2
เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ โดยมีจุดประสงค์
- เพื่อยืนยันอายุครรภ์ในแม่ตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ช้า ที่ไม่ได้รับการตรวจตั้งแต่ในไตรมาสแรก
- ตรวจตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ
- ตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ของทารกได้ เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต กระดูกสันหลัง
- ตรวจการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงทารก ซึ่งอาจบอกถึงสาเหตุการเกิดโรคความดันสูงขณะตั้งครรภ์ได้ หรือภาวะที่ทารกโตช้ากว่าปกติ
- ประเมินความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ในแม่ตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกไตรมาสที่ 3
เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์ โดยมีจุดประสงค์
- เพื่อตรวจดูพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งหากทารกมีการเจริญเติบโตช้าจะสามารถเห็นได้ชัดเจนในไตรมาสนี้
- ตรวจการเจริญเติบโตของกระดูก เพื่อประเมินภาวะผิดปกติของกระดูกต่าง ๆ เช่น กระดูกบางมือหรือเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ ภาวะเท้าปุก แขนขาสั้น หรือคนแคระ
- ตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นช่วงหลังของการตั้งครรภ์
- บอกปริมาณน้ำคร่ำ
- ตรวจการเจริญเติบโตของทารกเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอด
การตรวจอัลตราซาวนด์ MFM คืออะไร?
เป็นการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์โดยสูติแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (maternal fetal medicine; MFM) โดยเป็นการตรวจที่เน้นการตรวจโครงสร้างอวัยวะของทารกความสมบูรณ์ ความผิดปกติ หรือความพิการแต่กำเนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ครรภ์แฝด แม่ตั้งครรภ์มีอายุมาก แม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคต่าง ๆ
การตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์อันตรายหรือไม่?
การตรวจอัลตราซาวนด์เป็นการตรวจที่ปลอดภัยทั้งกับลูกน้อยในครรภ์และคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่มีผลใด ๆ ต่อการเจริญเติบโตของทารก ไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนใด ๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ และไม่มีผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาหรือทำให้เกิดโรคจิตเภทใด ๆ
สรุป
ความสมบูรณ์ของทารกและสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ในทางการแพทย์ทุกการตั้งครรภ์ย่อมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ การฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่ามีการตั้งครรรภ์จึงเป็นสิ่งที่สูติ-นรีแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรทำ การมาตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง รวมถึงการตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์ตามอายุครรภ์ที่แพทย์แนะนำ เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของทารก รวมถึงประเมินกำหนดคลอด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการคลอด เพื่อให้เป็นการคลอดที่ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงทั้งลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์