การปฐมพยาบาลกระดูกหักอย่างถูกวิธี ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก

อุบัติเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุจากการทำงาน หรือว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน มักจะตามด้วยความบาดเจ็บ และหากเป็นอุบัตินั้นรุนแรงอาจทำให้กระดูกหักตามมาได้ และเมื่อเกิดกระดูกหักแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บาดเจ็บต้องได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง เพราะการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจะลดความเสี่ยงต่อความพิการและถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการรักษาภาวะกระดูกหัก ดังนั้นการปฐมพยาบาลกระดูกอย่างถูกต้องจึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเเละมีผลต่อการรักษาเป็นอย่างมาก

สารบัญ

การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักที่ถูกต้องมีผลอย่างยิ่งต่อการรักษา ซึ่งกระดูกหักแต่ละประเภทก็มีการปฐมพยาบาลที่มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ซึ่งหากพบผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุเอง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อลดความรุนแรงของภาวะกระดุกหัก ดังต่อไปนี้ 

การปฐมพยาบาลกระดูกหักเบื้องต้น

  1. ตรวจบริเวณใกล้เคียงเเละหาสาเหตุที่ทำให้กระดูกหัก เช่น ประสบอุบัติเหตุจากการขับยานพาหนะ, ถูกตี, ตกจากที่สูง หรือ ล้มกระแทกพื้น
  2. ตรวจดูว่าบริเวณที่สงสัยว่ากระดูกหักมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือมีลักษณะผิดรูปไปจากปกติหรือไม่ ทดสอบว่ามีอาการปวดมากขึ้นเวลาเคลื่อนไหวหรืออาการชาหรือไม่
  3. ตรวจดูบริเวณแผลว่ามีรอยช้ำ หรือมีเลือดออกมากน้อยเเค่ไหน
  4. ทำการโทรแจ้ง หรือเรียกรถพยาบาล พร้อมแจ้งสาเหตุโดยประเมินสาเหตุของกระดูกหักและผลการประเมินเบื้องต้นผู้ป่วยมีอาการอย่างไร และขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากบริเวณใกล้เคียง
  5. ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร เเละยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หรือนอกเหนือจากคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลภาวะกระดูกหัก
  6. ปฐมพยาบาลกระดูกหักเเต่ละประเภทตามคำแนะนำ

การปฐมพยาบาลกระดูกหักแบบปิด

คำแนะนำในกรณีมีกระดูกหักแบบปิดคือ

  • พยายามพยุงกระดูกส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่กับที่ให้มากที่สุด 
  • หากกระดูกแขนหรือขาหักควร นำกระดาษแข็งมาห่อไว้ เพื่อไม่ให้บริเวณที่กระดูกหักได้รับบาดเจ็บจากการขยับ

การปฐมพยาบาลกระดูกหักแบบเปิด

คำแนะนำในกรณีมีกระดูกหักแบบเปิดคือ

  • พยายามให้ผู้ป่วยอยู่กับที่ให้มากที่สุดเเละไม่ควรดึงกระดูกบริเวณที่หักเเละผิดรูปให้กลับเป็นเหมือนเดิมเพราะอาจจะทำให้เส้นประสาทเเละหลอดเลือดฉีกขาดได้ 
  • ทำความสะอาดแผลโดยล้างด้วยน้ำสะอาด เเล้วห่อด้วยผ้าชุบน้ำในบรืเวณที่กระดูกทิ่มทะลุออกมา
  • กดห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาด เเละกดให้เเน่นนาน 10 – 15 นาที หรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนเเรงให้ประคบเย็นบริเวณใกล้แผล หรือยกสูงเพื่อลดอาการบวม

การปฐมพยาบาลกระดูกหักข้อเคลื่อน

  • งดใช้ข้อหรืออวัยวะนั้น และพยายามเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
  • ใช้ผ้ามาช่่วยพยุง ดาม หรือเข้าเผือกโดยให้อยู่ในท่าพักเเละผ่อนคลาย

การวินิจฉัย

  1. แพทย์จะทำตรวจร่างกาย และตรวจดูบริเวณที่กระดูกหักหรือบริเวณที่ด้รับบาดเจ็บ
  2. แพทย์จะพิจารณาให้เอกซเรย์ (x-ray) ผู้ป่วย ในกรณีกระดูกหัก บริเวณ  ข้อมือ แขน ขา หรือบริเวณ สะโพก 
  3. แพทย์อาจพิจารณาให้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography; CT scan) ในกรณีผู้ป่วยกะโหลกศีรษะเเตก เพราะจะช่วยวินิจฉัยบาดเเผลบริเวณกะโหลกเเละภาวะเลือดออกในสมองได้
  4. แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจในกรณีที่ต้องการข้อมูลอย่างละเอียดเเละครบถ้วนในผู้ป่วยกระดูกหักที่มีความซับซ้อนมากกว่าปกติ

ภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหัก

ภาวะกระดูกหักหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาล หรือรักษาอย่างถูกวิธี หรือปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ คือ

  1. หลอดเลือดแดงบาดเจ็บหรือฉีกขาด
  2. กระดูกผิดรูปหรือผิดปกติจากตำแหน่งเดิมหากทำการปฐมพยาบาลและรักษาไม่ถูกวิธี
  3. สูญเสียการเคลื่อนไหว และอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดอุดตันไปยังปอด และอวัยวะสำคัญรวมถึงกล้ามเนื้อสลายตัว
  4. หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดเนื้อเน่าตายบริเวณแผล หรือแผลติดเชื้อโดยอาจจะลุกลามจนทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จนเสียชีวิตได้

การรักษากระดูกหัก

โดยทั่วไปกระดูกหักมีการรักษา 2 แบบ ได้แก่

1. การรักษากระดูกหักแบบไม่ต้องผ่าตัด

  • กระจัดเรียงกระดูก: โดยเเพทย์จะทำการจะจัดเเนวกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งเดิม หากเป็นกระดูกหักทั่วไปเเละไม่มีแผลเปิดสามารถทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ทันที
  • การใส่เผือก: เป็นการรักษาภายหลังการจัดเรียงกระดูกเเล้ว  ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยึดกระดูกให้อยู่นิ่ง โดยเเพทย์จะทำการพันแผลบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเเละใส่เผือกปูนเพื่อพยุงกระดูกบริเวณที่มีการหัก

2. การรักษากระดูกหักด้วยการผ่าตัด

ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่มีกระดูกหักรุนแรง หรือกระดูกหักทะลุผิวหนัง หรือกระดูกแตกละเอียดจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อยึดกระดูกโดยวิธีการดามโลหะ โดยแพทย์จะผ่าตัดตกแต่ง เช่นในกรณีที่มีกระดูกหักทิ่มผิวหนังออกมา แพทย์อาจทำการตกแต่งแผลเพื่อนำเศษเนื้อออกมาให้หมดก่อนทำการจัดเรียงกระดูก เนื่องจากกระดูกที่ทิ่มออกมาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้  แพทย์อาจใส่หมุด แผ่นเหล็ก สกรู หรือกาว เพื่อยึดกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้รับการจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะให้ใส่เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูก หรือใช้วิธีตรึงกระดูกเพื่อลดอาการปวดและรักษากระดูกหัก ในบางกรณีแพทย์อาจซ่อมเเซมหลอดเลือดเเละเส้นประสาทบริเวณแผล ซึ่งการผ่าตัดนี้จะช่วยลดภาวะเเทรกซ้อนของการที่กระดูกที่ถูกดามเป็นเวลานาน ๆ เเละยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อลงได้

ข้อปฏิบัติตัวหลังการรักษากระดูกหัก

หลังถอดเฝือกหรืออุปกรณ์ดามกระดูกออกแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการ ข้อติดแข็ง บวม และอาจมีเนื้อปูดอยู่อาจเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ในรายที่กระดูกขาหักอาจเดินไม่สะดวกในช่วงแรก ๆ อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2 – 3 สัปดาห์ โดยกระดูกที่หักจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม 

ผู้ป่วยควรมาตรวจตามแพทย์นัดและไม่หักโหมใช้ส่วนที่หัก หรือได้รับบาดเจ็บมากเกินไป ทั้งนี้สามารถดูแลตัวเองระหว่างรักษาและหลังการรักษากระดูกหักได้ ดังนี้

  • ควรเลี่ยงอยู่ใกล้ของร้อนหรือมีอุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันปูนที่ใช้ทำเฝือกละลาย 
  • ป้องกันไม่ให้บริเวณดังกล่าวเปียก โดยการใช้ถุงพลาสติกมาหุ้มเฝือกและปิดให้สนิทขณะอาบน้ำ 
  • หากมีอาการคัน สามารถใช้ที่เป่าผมเป่าบริเวณที่ใส่เฝือกเพื่อบรรเทาอาการคัน
  • ไม่ใช้งานส่วนที่หักมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงยกของหนักและขับรถจนกว่าอาการกระดูกหักจะหายดี
  • หากเกิดอาการบวม เขียวซีด ขยับนิ้วหรือขยับเท้าไม่ได้ เกิดอาการชา หรือปวดมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

กระดูกหักรักษานานไหม?

หากรักษาด้วยวิธีการใส่เผือกจะใช้เวลาในการรักษาแตกต่างกันโดยขึ้นกับบริเวณที่กระดูกหัก เช่น 

  • กระดูกนิ้วหัก จะใส่เผือกนานประมาณ 2 สัปดาห์
  • กระดูกต้นขาหัก จะใส่เผือกนานประมาณ 3 – 4 เดือน

ในกรณีรักษาด้วยการผ่าตัดใส่เหล็กดาม อาจจะใช้เวลานานถึง 1 – 2 ปี โดยจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายด้วยนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

ผู้ที่กระดูกหักควรกินอะไร?

โดยทั่วไปคนมักเข้าใจผิดว่ากระดูกหักจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงหรือเสริมด้วยแคลเซียม เพื่อให้กระดูกต่อติดและหายได้รวดเร็ว แต่ความจริงแล้ว เพียงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม  กระดูกที่หักก็จะหายได้ง่ายและรวดเร็วได้เช่นกัน

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง