“ใจสั่น” คงเป็นคำที่เราน่าจะคุ้นเคย หรือบางท่านอาจมีประสบการณ์เคยมีอาการใจสั่นมาบ้าง
ใจสั่น หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่น่ากังวล และแบบที่อันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยปกติแล้วหัวใจคนเราจะเต้นอย่างสม่ำเสมอในอัตราการเต้นที่ 60 – 100 ครั้งต่อนาที และหากมีการเต้นที่ช้าหรือเร็วกว่านี้เรามักจะเรียกภาวะนั้นว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ซึ่งมีหลายชนิด หลายความรุนแรง
สารบัญ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คืออะไร?
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) คือ ความผิดปกติของการเกิดสัญญาณไฟฟ้า หรือการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นผิดปกติไปจากเดิม อาจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือมีการเต้นที่ผิดจังหวะแทรกอยู่กับจังหวะการเต้นปกติ ซึ่งสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หลายประเภท
ประเภทของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยแบ่งตามอัตราการเต้น เเบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว (tachycardia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที โดยผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หรืออาการเหนื่อย ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หลาย ๆ แบบ เช่น หัวใจห้องบนเต้นเร็ว (supraventricular tachycardia) หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (ventricular tachycardia)
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า (bradycardia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการ อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ เกิดได้จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หลาย ๆ แบบ เช่น กลุ่มอาการซิคไซนัส (sick sinus syndrome) ภาวะการบิดกั้นการนำไฟฟ้าหัวใจ (atrioventricular block) เป็นต้น
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แทรกกับจังหวะหัวใจปกติ คือ มีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติแทรกระหว่างจังหวะที่ปกติ โดยผู้ป่วยอาจจะรู้สึก ใจสั่น หวิว ๆ หรือรู้สึกว่าตกจากที่สูง การเต้นผิดจังหวะประเภทนี้ ได้แก่ หัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด (premature ventricular contraction; PVC) หัวใจห้องบนเต้นก่อนกำหนด (premature atrial contraction; PAC)
ประเภทของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยแบ่งตามจุดกำเนิดสัญญาณที่ผิดปกติ เเบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากหัวใจห้องบน (supraventricular arrhythmia) เช่น
- ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (atrial fibrillation) เป็นภาวะการเต้นผิดจังหวะที่มีจุดกำเนิดที่หัวใจห้องบน ภาวะนี้หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ และเสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็ว (atrial flutter) เป็นภาวะการเต้นผิดจังหวะที่มีจุดกำเนิดที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ และอัมพฤกษ์อัมพาตได้เช่นกัน
- ภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดจากหัวใจห้องบน (supraventricular tachycardia) เป็นภาวะหัวใจเต้นเร็วที่มีจุดกำเนิดจากหัวใจห้องบน
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากหัวใจห้องล่าง (ventricular arrhythmia) เช่น
- ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (ventricular tachycardia) เป็นภาวะหัวใจเต้นเร็วที่มีจุดกำเนิดจากหัวใจห้องล่าง ภาวะนี้เป็นภาวะอันตราย ผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพ และต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพราะสามารถทำให้เสียชีวิตได้
- ภาวะหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว (ventricular fibrillation) เป็นภาวะที่หัวใจห้องล่างไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ เป็นภาวะอันตราย ผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพ และต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพราะสามารถทำให้เสียชีวิตได้
หัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายไหม?
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดขึ้นได้ในคนปกติทั่วไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในกรณีที่ความรุนแรงไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาด้วยยา หรือหัตถการเพิ่มเติม อาจเป็นการสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติชัดเจน ควรรีบปรึกษาแพทย์
แต่ในกรณีมีความผิดปกติรุนเเรงเเละไม่ได้รับการวินิจฉัยเเละการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที อาจทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลงหรือการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดในหัวใจได้ และในกรณีร้ายเเรงที่สุดคือเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) แบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีทั้งแบบที่มีอาการ และไม่มีอาการ โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น
- ใจสั่น
- อ่อนเพลีย
- หน้ามืด เวียนศีรษะ
- รู้สึกหวิว ๆ คล้ายนั่งรถลงสะพาน หรือคล้ายตกจากที่สูง
- เจ็บเเน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่าย
- วูบ หรือเป็นลมหมดสติ
อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะเเบ่งเป็น 2 สาเหตุได้แก่
1. สาเหตุที่เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นนอกหัวใจ เช่น
- การดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การรับประทานยาบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคประจำตัวที่รักษาไม่สม่ำเสมอเเละควบคุมไม่ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด
2. สาเหตุความผิดปกติที่หัวใจ เช่น
- โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ เเละโรคหัวใจพิการเเต่กำเนิด
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมที่ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (non-ischemic dilated cardiomyopathy DCM)
- โรควงจรไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น โรคไหลตาย (Brugada syndrome) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Wolff-Parkinson-White syndrome (WPW)
วินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เราสามารถสังเกตอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยการคลำชีพจรเอง บริเวณข้อมือ หรือ การสวมใส่นาฬิกาอัจฉริยะ (smart watch) ก็สามารถประเมินได้เบื้องต้นในเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ อย่างไรก็ตามหากสงสัยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ
การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะมีดังนี้
- การซักประวัติ การตรวจร่างกาย เช่น โรคประจำตัว ยาที่ใช้เป็นประจำ
- การตรวจเลือด เพื่อดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เเละระดับเเร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography; EKG) ใช้เพื่อตรวจประเมินความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้น
- การตรวจด้วยเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา (event recorder) เป็นอุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่สามารถพกพาได้ สามารถตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการ
- การตรวจด้วยเครื่องบันทึกสัญญาณหัวใจ 24 – 48 ชั่วโมง (holter monitor) เป็นการติดอุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 – 48 ชั่วโมงเพื่อดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าตลอดเวลาที่ติดเครื่องบันทึก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาชนิดฝัง (implantable loop recorder) ใช้วินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่เกิดนาน ๆ ครั้ง หรือในผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติหรือเป็นลมแบบไม่ทราบสาเหตุโดยจะฝั่งเครื่องใต้ผิวหนังในบริเวณอกด้านซ้าย
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram) เป็นการตรวจดูโครงสร้างหัวใจเเละประเมินการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อหาสาเหตุเเละประกอบการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) เป็นการดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะออกกำลังกายเพื่อใช้ดูการตอบสนองหัวใจในขณะออกกำลังกายเเละยังใช้ประเมินภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบได้
- การตรวจสวนหัวใจเพื่อศึกษาสรีระไฟฟ้าหัวใจ (electrophysiology study; EPS) เป็นการศึกษาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดที่ซับซ้อน โดยใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดหัวใจเพื่อทำการตรวจประเมินการนำไฟฟ้าของหัวใจในเเต่ละตำแหน่ง เเละศึกษากลไกการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ พร้อมกับประเมินความรุนเเรง
รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หลักการเบื้องต้นของการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะรักษาตามสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ โดยหากมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคหัวใจก็จะต้องทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุก่อน เเต่หากเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และความฉุกเฉินเร่งด่วน ได้แก่
- การรับประทานยา เป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นโดยยาจะช่วยควบคุมอัตราการเต้นเเละจังหวะของหัวใจ หรือแพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (catheter ablation) คือการใส่สายสวนหัวใจไปทางหลอดเลือดเพื่อใช้ความร้อนทำลายจุดไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในหัวใจ
- การปรับเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrical cardioversion) คือการใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดที่เหมาะสมไปช็อกเปลี่ยนให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ให้กลับมาเป็นปกติโดยมักใช้กับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (atria fbrillation)
- เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือเออีดี (automatic external defibrillator; AED) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดภายนอกร่างกายเพื่อวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว(ventricular tachycardia; VT) หรือหัวใจห้องล่างเต้นสั่นพลิ้ว (ventricular fibrillation; VF) ได้โดยอัตโนมัติหลังจากนั้นเครื่องจะปล่อยไฟฟ้าขนาดที่เหมาะสมเข้าไปปรับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจให้กลับสู่ภาวะปกติ โดยสามารถพบตู้เก็บเครื่อง AED ในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า สนามบิน สวนสาธารณะ
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (cardiac pacemaker) เพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจในภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
- การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automated implantable cardioverter-defibrillator; AICD) โดยเครื่องจะตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา และหากมีการเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง (ventricular tachycardia หรือ ventricular fibrillation) หรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น เครื่องจะทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อช็อกหยุดการเต้นที่ผิดจังหวะ หรือกระต้นให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้งโดยอัตโนมัติ
สรุป
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภาวะที่พบได้บ่อย มีทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงซึ่งไม่จำเป็นต้องรับประทานยา หรือหัตถการต่าง ๆ และชนิดที่รุนแรง ซึ่งบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น มีลิ่มเลือดในห้องหัวใจ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง หรือบางชนิดทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น หวิว ๆ หน้ามืด วูบ หมดสติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจอันตรายถึงชีวิตได้
และในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ทำให้กว่าจะทราบว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไปมากแล้ว หรืออาจเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจจนเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพ และการหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราสามารถทราบถึงภาวะสุขภาพโดยรวม และภาวะสุขภาพของหัวใจได้