“ไข้หวัดใหญ่” คงเป็นโรคที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะมักจะมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี โรคไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาและโควิด-19 อย่างไร ? ทำไมต้องฉีดวัคซีนทุกปี ? และวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีแบบไหนบ้าง ?
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากสถิติในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากถึง 10,000 ราย คิดเป็น 15 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก ดังนั้น การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้บกพร่องทางภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง จึงมีความจำเป็น
สารบัญ
โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร? เกิดจากสาเหตุใด?
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า influenza virus โดยแบ่งย่อย ออกเป็นสายพันธุ์เอ บี ซี และดี โดยสายพันธุ์ที่เกิดการระบาดและพบได้บ่อยที่สุดคือ สายพันธุ์เอ รองลงมาเป็น บี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการป่วยได้น้อยกว่า ส่วนสายพันธุ์ซี พบได้น้อยมากและไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ส่วนสายพันธุ์ดีมักไม่ก่อโรคในมนุษย์
โรคไข้หวัดใหญ่มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน และยังสามารถระบาดต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว โดยทำให้มีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้สูงติดกันหลายวัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหาร จุดแตกต่างที่สำคัญก็คือ ไข้หวัดใหญ่มีทำให้เกิดผลแทรกซ้อนจนถึงชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้บกพร่องทางภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เป็นต้น
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน จนถึงระบบทางหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะหลอดลมและปอด โดยอาการที่พบได้ คือ
- ไข้สูงหนาวสั่น
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว
- ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงจนทำให้ปอดติดเชื้อ มีภาวะหายใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้
ในผู้ป่วยที่สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เกิดการติดเชื้อรุนแรง อาการส่วนใหญ่มักจะหายได้ใน 7 วัน หากได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของปีนั้นมาแล้ว อาการและระยะเวลาป่วยก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก
กลุ่มผู้ป่วยที่น่ากังวลก็คือ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เพราะเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้ต้องได้รับการรักษาที่มากขึ้น การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ทางไหนบ้าง? ป้องกันได้อย่างไร?
1. ผ่านละอองฝอยในอากาศจากการไอหรือจาม
2. สัมผัสสารคัดหลั่งจำพวกน้ำมูก และน้ำลายจากผู้ป่วย หรือตามพื้นผิว แล้วมาสัมผัสจมูกหรือปากของตัวเอง
ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการใส่หน้ากาก ล้างมือหลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี
ตารางเปรียบเทียบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19
การที่เราทราบความแตกต่างของโรคไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 จะช่วยให้เราแยกอาการของโรคได้ในเบื้องต้น และหากสงสัยควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาให้ตรงจุดและทันท่วงที ความแตกต่างของโรคทั้ง 3 มีดังต่อไปนี้
อาการ | ไข้หวัด | ไข้หวัดใหญ่ | โควิด-19 |
---|---|---|---|
ไข้สูงหนาวสั่น
| – | ||
ปวดศีรษะ
| – | ||
ปวดเมื่อยเนื้อตัว
| – | ||
ไอ จาม
| |||
คัดจมูก มีน้ำมูก
| |||
อาเจียน ถ่ายเหลว
| อาจพบได้
| อาจพบได้
| อาจพบได้
|
ปอดติดเชื้อ
| – | อาจพบได้
| อาจพบได้
|
ฤดูกาลที่ระบาด
| ฤดูฝน-ฤดูหนาว
| ฤดูฝน-ฤดูหนาว
| ตลอดทั้งปี
|
ATK, RT-PCR for COVID-19
| – | – | |
Influenza nasal swab
| – | – |
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
เนื่องจากพบว่าไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธ์ุ โดยในประเทศไทยมีการระบาดของทั้งสายพันธุ์ เอ และ บี เราจึงควรเลือกฉีดวัคซีนที่จะให้การป้องกันที่ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ ดังต่อไปนี้
1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วถึงสองครั้ง คือ "Spanish flu" เมื่อปี 1918 และอีกครั้งคือ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”
2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) เป็นสายพันธุ์ที่เกิดอาการรุนแรงมากกว่า
3. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B/Victoria สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ได้ช้ากว่าสายพันธุ์เอ และไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่
4. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B/Yamagata มีผลการวิจัยที่น่าสนใจคือ สายพันธุ์นี้อาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากการระบาดของโควิด 19
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีข้อควรระวังคือ วัคซีนทั้ง 4 สายพันธุ์ ผ่านกรรมวิธีการผลิตในไข่ไก่ จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรง
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะสามารถป้องกันได้ทั้งการติดเชื้อและอาการที่รุนแรง จึงมีคำแนะนำให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง สามารถฉีดได้ทุกคนและทุกช่วงอายุ (ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
- ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- ผู้ที่มีโรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี?
เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วัคซีนของปีก่อนอาจจะไม่สามารถป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ของปีนี้ได้ จึงต้องมีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในทุก ๆ ปี เพื่อให้จำเพาะและเท่าทันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วหลายเดือน ระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ก็จะค่อย ๆ ลดลงตามเวลา ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีก็จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้นได้
การวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์
เนื่องจากการตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายระบบ ทั้งระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ และปอด ทำให้หญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการป้องกันที่มีความสำคัญและมีความจำเป็น ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้เมื่ออายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป โดยข้อดีของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์
- ช่วยลดความเสี่ยงภาวะปอดติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 50% และลดโอกาสการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 40%
- การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกหลังคลอดที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพราะทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์