ปัจจุบันโรคภูมิแพ้กลายเป็นโรคยอดฮิต เราคงเคยมีอาการของโรคภูมิแพ้ หรือมีคนรู้จักสักคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะโรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และแทบจะเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้เยอะทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นถึง 3 - 4 เท่า จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยข้อมูลสถิติจากสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย รายงานว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้ถึง 40% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากสถิติเมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนในผู้ใหญ่พบประมาณ 20% จากข้อมูลเหล่านี้เราสามารถกล่าวได้ว่า มีคนไทยกว่า 10 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหาจากโรคภูมิแพ้อยู่ในขณะนี้
สารบัญ
โรคภูมิแพ้ คืออะไร?
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไว (hypersensitivity) ต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง (allergen) ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ โรคภูมิแพ้จึงไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นโดยการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
อาการของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้อาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงผื่นลมพิษเรื้อรัง โดยจะแบ่งอาการของโรคภูมิแพ้ออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
- อาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ: ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ อาจมีอาการของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จาม มีน้ำมูก คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหลลงคอ มีเสมหะในคอ เป็นหวัดบ่อย เป็นหวัดเรื้อรัง หูอื้อ ไอ มีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น และอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจหอบ ไอมากตอนกลางคืน ไอหลังออกกำลังกาย หายใจมีเสียงวี้ด นอนกรน เป็นต้น
- อาการแสดงทางผิวหนัง: เกิดเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น ผื่นแดงตามใบหน้าและลำตัว ผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ผิวหนังแห้ง คันตามผิวหนัง
- อาการแสดงทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน สำรอก ปวดท้อง ถ่ายเหลว
- อาการแสดงในระบบอื่น ๆ: เช่น ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย
ซึ่งอาการดังกล่าวข้างต้นมักส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดได้จากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- เกิดจากพันธุกรรม
- เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม: โดยสารก่อภูมิแพ้อาจเข้าสู่ร่างกายทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินหายใจ ทางการรับประทานอาหาร ทางการสัมผัสที่ผิวหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก หรือโดยการฉีด หรือถูกแมลงกัดต่อยผ่านผิวหนัง สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสร วัชพืช ขนสุนัข ขนแมว แมลงสาบ เชื้อรา ยาบางชนิด อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น
- ปัจจัยอื่น ๆ: ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย มลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง PM 2.5 ปัจจัยเหล่านี้มักเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้
การตรวจหาสาเหตุของภูมิแพ้
หากมีอาการของโรคภูมิแพ้ ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ และจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ ไม่ควรปล่อยให้มีอาการภูมิแพ้เป็นเรื้อรังหรือกำเริบบ่อยครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ในกลุ่มที่มีอาการภูมิแพ้อากาศ อาจเกิด โรคไซนัสอักเสบ โรคริดสีดวงจมูก โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือโรคหอบหืด แทรกซ้อนตามมา หรือในกลุ่มโรคภูมิแพ้ขึ้นตา หากมีอาการเคืองตามาก โดยเฉพาะในเด็ก จะทำให้มีการขยี้ตาบ่อย ๆ จนอาจทำให้เกิดแผลบนกระจกตา ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการแย่ลงแล้ว ยังอาจมีผลเสียต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการของโรคภูมิแพ้ควรรีบปรึกษาแพทย์ และตรวจหาสาเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
- การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป)
- การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด
การรักษาโรคภูมิแพ้
เมื่อทราบสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ควรรับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเทคนิคการรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี เช่น
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แม้จะใช้ยารักษาภูมิแพ้แล้ว แต่หากไม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็ยังทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบต่อไปได้
2. ใช้ยารักษาสม่ำเสมอต่อเนื่อง และใช้ยาอย่างถูกวิธี เนื่องจากโรคภูมิแพ้อากาศ มียาที่ใช้รักษาหลายตัว ทั้งยารับประทาน และยาใช้เฉพาะที่ เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ แพทย์มักจ่ายยาพ่นให้ หรือในผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ก็มักจะมียาหยอดตาด้วย หรือในผู้ที่มีอาการโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ก็จะมียาทาเพิ่มเติม เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีมีความจำเป็น เพราะจะทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้
3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
4. รักษาโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคอ้วน
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมโรคไม่ให้มีอาการหรือมีอาการน้อยที่สุดได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้อาการแพ้ต่าง ๆ ดีขึ้น และส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา