กระดูกหัก ภาวะอันตรายที่อาจทำให้พิการได้

กระดูกหักเสี่ยงพิการได้

กระดูกเป็นโครงสร้างที่สำคัญของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว รักษาสมดุลท่าทางของร่างกาย และบ่อยครั้งที่อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน และอาจรุนแรงจนทำให้เกิดกระดูกหัก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาล วินิจฉัย หรือการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสี่ยงให้เกิดความพิการตามมาได้ ความเข้าใจภาวะกระดูกหัก การที่ทราบถึงอาการ สาเหตุ และการป้องกันจะทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ทำให้กระดูกหัก เราจะสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรง รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อความพิการได้

สารบัญ

กระดูกหักคืออะไร?

กระดูกหัก (bone fracture) คือ ภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงดังกล่าวได้จนเกิดการหัก ทำให้เกิดอาการปวด กระดูกเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน ทำให้มีเลือดออกและได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบกระดูกที่ได้รับแรงกระแทก 

กระดูกจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยแคลเซียมและเซลล์กระดูก โดยตรงกลางกระดูกจะมีลักษณะอ่อนกว่าเรียกว่า ไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง กระดูกแต่ละส่วนจะประกอบกันเป็นโครงสร้างกระดูกที่รองรับร่างกาย ช่วยในการเคลื่อนไหว และปกป้องอวัยวะภายในของร่างกาย ซึ่งหากร่างกายได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง จะส่งผลให้กระดูกแตกหรือหักได้

ความสำคัญของกระดูก

อาการของกระดูกหัก

กระดูกหักถือเป็นภาวะบาดเจ็บที่ต่างจากปัญหากระดูกอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยกระดูกหักจะเกิดอาการได้หลายอย่าง โดยผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที 

  • ปวดกระดูกหรือรอบ ๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยอาการจะแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับแรงกดที่บริเวณดังกล่าว
  • มีอาการบวมบริเวณกระดูกที่บาดเจ็บ และอาจเกิดรอยช้ำและเลือดออกจากผิวหนัง
  • อวัยวะผิดรูปไป เช่น แขน ขาผิดรูป โดยแขนหรือขาจะงอ หรือหักบิดในลักษณะที่ผิดปกติ
  • เคลื่อนไหวแขนขาได้น้อย หรือไม่ได้เลย
  • รู้สึกชา และเกิดอาการเหน็บชา
  • บางรายอาจมีกระดูกทิ่มทะลุผิวหนังออกมา

สาเหตุของกระดูกหัก

กระดูกแต่ละส่วนในร่างกายปกตินั้นจะมีความแข็งแรง ทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกและหักได้ โดยมักเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • ประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน แล้วได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • ถูกตีหรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • ตกลงมาจากที่สูง
  • ตกลงมากระแทกพื้นที่แข็งมาก
  • ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว เช่น เล่นกีฬาที่ต้องลงน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทำให้เท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หรือสะโพก เกิดกระดูกปริได้
  • เป็นโรคกระดูกพรุนหรือมะเร็งบางชนิด ที่ส่งผลให้มวลกระดูกเสื่อมลง หักได้ง่าย ทำให้หากได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยจากการท้ากิจกรรมต่าง ๆ หรือประสบอุบัติเหตุก็อาจทำให้กระดูกหักร้ายแรงได้
  • ในกรณีของเด็กที่กระดูกหัก อาจเกิดจากการถูกทารุณกรรม

กระดูกหักมีกี่แบบ?

การแบ่งประเภทของกระดูกหักโดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  1. กระดูกหักชนิดไม่มีแผล (closed fracture) คือ กระดูกหักแต่ผิวหนังไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ
  2. กระดูกหักแบบแผลเปิด (open หรือ compound fracture) คือ กระดูกที่ทิ่มผิวหนังออกมา หรือได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเปิด ซึ่งกระดูกหักแบบแผลเปิดนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

นอกจากนี้ กระดูกหักยังแบ่งตามลักษณะของกระดูกที่หักได้อีกหลายประเภท คือ

  • กระดูกหักทั่วไป (simple fracture) คือ กระดูกที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น
  • กระดูกยุบตัว (compression fracture) คือ กระดูกที่เกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • กระดูกหักเป็นเกลียว (spiral fracture) คือ ภาวะกระดูกที่หักเป็นเกลียว ซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิ
  • กระดูกเดาะ (greenstick fracture) คือ กระดูกที่แตกเพียงด้านเดียว ส่วนกระดูกอีกด้านโก่งไปตามแรงกดที่ปะทะเข้ามา ซึ่งมักเกิดในเด็ก เพราะกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่
  • กระดูกแตกย่อย (comminuted fracture) คือ ภาวะที่กระดูกแตกออกเป็น 3 ชิ้นขึ้นไป
  • กระดูกหักตามขวาง (transverse fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางของกระดูก
  • กระดูกหักแบบเฉียง (oblique fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
  • ปุ่มกระดูกแตก (avulsion fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
  • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (impacted fracture) คือ ภาวะที่กระดูกทั้ง 2 ด้านได้รับแรงกด ส่งผลให้กระดูกแตกทั้ง 2 ด้าน
  • กระดูกหักล้า (stress fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้า ๆ
  • กระดูกหักจากพยาธิสภาพ (pathologic fracture) คือ ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูกหรือการป่วยเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกเสื่อมลง

การป้องกันกระดูกหัก

กระดูกหัก ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถหรือโดยสารรถยนต์ และเมื่อต้องขับขี่จักรยานยนต์หรือทำกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันการกระแทก เช่น หมวกกันน็อค หรือสนับเข่า สนับมือ และข้อศอก 
  • ไม่ควรวางของทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุสะดุดล้มได้ 
  • ในกรณีมีเด็กเล็ก ควรปิดหน้าต่างหรือ ทำที่กั้นทางขึ้น-ลงบันได เพื่อป้องกันเด็กเล็กพลัดตก และควรดูแลอย่างใกล้ชิด และระวังไม่ให้เล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
  • หากต้องใช้บันไดหรือนั่งร้าน ควรหลีกเลี่ยงการยืนบนบันไดขั้นบนสุด รวมทั้งให้ผู้อื่นจับบันไดไว้ขณะที่อยู่บนบันไดหรือนั่งร้าน
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความสมดุลให้มวลกระดูก และปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียมเสริม

หากเรามีความเข้าใจและทราบถึงสาเหตุรวมไปถึงการป้องกันภาวะกระดูกหัก ก็จะทำให้สามารถรับมือกับภาวะกระดูกหักได้หากเกิดเหตุหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น แต่ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน และระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคที่จะทำให้เกิดภาวะกระดูกหักขึ้นได้ และหากเกิดการแตกหักของกระดูกขึ้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง