ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ…รักษาให้หายได้ด้วยการ “จี้ไฟฟ้าหัวใจ”

จี้ไฟฟ้าหัวใจ

อาการใจสั่น หรือความรู้สึกตกจากที่สูง หรืออยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นเฉย ๆ อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เราสามารถพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 1.5-5% ของประชากร ส่วนหนึ่งอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดมีความรุนเเรงอาจทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้  ซึ่งการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถรักษาได้หลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีที่รักษาเเล้วมีโอกาสหายขาดได้คือ การรักษาโดยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

การจี้ไฟฟ้าหัวใจคืออะไร?

การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (radiofrequency ablation; RFA) คือ การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยการใช้สายสวนหัวใจเข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบ เข้าไปภายในหัวใจจากนั้นปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเพื่อเข้าไปทำลายจุดปล่อยสัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่มีความผิดปกติภายในหัวใจหรือวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ โดยก่อนการจี้ไฟฟ้าหัวใจเเพทย์จะทำการตรวจระบบไฟฟ้าหัวใจ (electrophysiology studies; EPS) ก่อน โดยการใส่สายสวนหัวใจเข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบหรือใต้ไหปลาร้า เพื่อเข้าไปประเมินสัญญาณไฟฟ้าในจุดต่างๆในหัวใจ พร้อมทั้งวงจรไฟฟ้าในหัวใจ เพื่อหาสาเหตุเเละวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ความผิดปกติเเบบไหนต้องจี้ไฟฟ้าหัวใจ

เเพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเเละวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ได้แก่

  • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (supraventricular Tachycardia; SVT)
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Wolff-Parkinson-White syndrome (WPW)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบสั่นพริ้ว (atria fbrillation; AF ) 
  • หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะจากหัวใจห้องล่าง (ventricular tachycardia; VT) 
  • ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอชนิด premature ventricular contractions (PVCs)

การจี้ไฟฟ้าหัวใจหายขาดไหม?

อัตราการหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะภายหลังการจี้ไฟฟ้าหัวใจ มีโอกาสหายขาด 95-99% ทำให้ในผู้ที่รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานทานยาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอีก

การจี้ไฟฟ้าหัวใจอันตรายไหม?

การจี้ไฟฟ้าหัวใจมีผลข้างเคียงน้อยเเละค่อนข้างปลอดภัย ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็ว โดยผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดจากการจี้ไฟฟ้าหัวใจประมาณ 4.5%

ภาวะเเทรกซ้อนเเละผลข้างเคียงที่เกิดจากรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

การจี้ไฟฟ้าหัวใจมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยอาจพบอาการข้างเคียง เช่น

  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดภาวะหัวใจผิดจังหวะชนิดเต้นช้าได้
  • มีเลือดออกจากการใส่สายสวนหัวใจ
  • ติดเชื้อ
  • เกิดลิ่มเลือด
  • หลอดเลือดเสียหายจากสายสวนหัวใจ
  • หลอดเลือด กล้ามเนื้อ หรือลิ้นหัวใจได้รับบาดเจ็บ
  • ไตทำงานผิดปกติจากการได้รับสารทึบรังสี

การเตรียมตัวก่อนจี้ไฟฟ้าหัวใจ

  1. เเพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจะทำการให้คำเเนะนำการรักษาเเละขั้นตอนการจี้ไฟฟ้าหัวใจ พร้อมทั้งเเจ้งความเสี่ยงในการรักษา
  2. หยุดทานยาตามคำสั่งของเเพทย์ เช่น หยุดยาต้านการเเข็งตัวของเลือด (warfarin) อย่างน้อย 3-5 วัน หยุดยากลุ่มควบคุมการเต้นของหัวใจ 7 วันก่อนทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
  3. งดน้ำ งดอาหาร ทุกชนิดก่อนทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ 6-8 ชั่วโมง
  4. ควรพาญาติ เช่น พ่อแม่ ภรรยา หรือลูกที่อายุมากกว่า 18 ปี มาโรงพยาบาลด้วยขณะทำการรักษา เพื่อช่วยในการตัดสินใจในกรณีที่เเพทย์ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม
  5. เตรียมเอกสารใบนัดและเอกสารที่เกี่ยวข้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
การเตรียมตัวก่อนจี้ไฟฟ้าหัวใจ

ข้อควรปฏิบัติหลังจี้ไฟฟ้าหัวใจ

  1. ห้ามงอขาข้างที่ทำการใส่สายสวนหัวใจเพื่อจี้ไฟฟ้าหัวใจ 4-6 ชั่วโมงหลังทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
  2. หลีกเลี่ยงการออกเเรง หรือใช้ขาข้างที่ใส่สายสวนหัวใจ เช่น การขับรถยนต์ การขี่จักรยานยนต์เเละการปั่นจักรยาน 3 วันภายหลังทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
  3. ดูแลทำความสะอาดเเผล เละหลีกเลี่ยงการโดนน้ำเป็นเวลา 3 วันหลังทำ พร้อมทั้งสังเกตบริเวณรอบ ๆ แผล หากพบมีอาการผิดปกติของแผล เช่น บวม เเดงหรือมีการเกิดรอยช้ำใต้ผิวหนังหรือคล้ำเเล้วพบก้อนเเข็งขนาดใหญ่ ควรรีบไปพบเเพทย์ทันที
  4. หากมีอาการผิดปกติ ใจสั่น เจ็บเเน่นหน้าอก หรือเหนื่อยควรรีบไปพบเเพทย์
  5. รับประทานยาตามคำสั่งของเเพทย์เเละมาตรวจติดตามตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ

สรุป

การจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยเเละมีผลข้างเคียงน้อยเเละช่วยรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายขาดได้ ก่อนเเละหลังทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเเพทย์ พร้อมทั้งสังเกตอาการผิดปกติหลังทำ เพื่อผลการรักษาที่ดีเเละปลอดภัยหลังการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง