พัฒนาการเด็กทารก (แรกเกิด-1 ปี) ดูแลอย่างไรให้เหมาะสมกับวัย?

พัฒนาการเด็กทารก

พัฒนาการเด็กทารกและการเจริญเติบโตของเด็กทารกตั้งแรกเกิดถึง 1 ปีแรกถือเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเด็กจะมีพัฒนาการและทักษะในด้านต่าง ๆ เช่น การพลิกตัว การลุกขึ้นนั่ง คลาน เดิน โบกมือ พัฒนาการเหล่านี้เด็กส่วนใหญ่จะสามารถทำได้เมื่ออายุครบ 1 ปี ในช่วงปีแรกนี้สมองของเด็กทารกจะเริ่มพัฒนาทักษะด้านความจำและภาษา โดยเด็กจะเริ่มเรียนรู้จากการฟัง รู้จักชื่อตัวเอง คนรอบข้างและสิ่งของต่าง ๆ นอกจากนี้เด็กวัยนี้จะรับรู้ได้ถึงความรักและความไว้วางใจจากการกอด สัมผัส และการเล่น การมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ของเด็กช่วงแรกเกิดถึง 1 ปีแรก จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการก้าวเข้าสู่วัยช่วงวัยอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรส่งเสริมและสังเกตพัฒนาการของเด็กในวัยทารกว่ามีพัฒนาการเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ของเด็ก

พัฒนาการเด็กทารกทางด้านกายภาพ และการเคลื่อนไหว

ส่วนใหญ่แล้วเด็กทารกแรกเกิดมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรกของชีวิต ได้แก่

  • เมื่ออายุประมาณ 5 เดือนน้ำหนักและส่วนสูงจะเพิ่มเป็น 2 เท่า และเมื่ออายุครบ 1 ปี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักและส่วนสูงช่วงแรกเกิด  
  • ขนาดศีรษะและสมองของเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน จะยังมีกระดูกกระโหลกศีรษะไม่เต็ม สมองจะพัฒนาขึ้นประมาณ 50% และเซลล์สมองเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี 
  • เด็กแรกเกิดเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกาย
    • ช่วงอายุ 1-3 เดือน จะเริ่มควบคุมศีรษะ เริ่มพลิกคว่ำตัว ยกแขนขา เริ่มพลิกจากคว่ำเป็นหงาย 
    • ช่วงอายุ 4-6 เดือน จะสามารถคว่ำตัวได้นานขึ้น เด็กวัยทารกจะเริ่มคว้าของ กลิ้งไปมา นั่งพิง 
    • อายุ 7-9 เดือนจะสามารถนั่งเองได้เก่งขึ้น และเริ่มฝึกคลาน ไต่ ปีน 
    • อายุ 10-12 เดือน เด็กจะสามารถยืนเองได้ เดินจับสิ่งของ เริ่มเดินช้า ๆ โดยไม่ต้องพยุง 
  • เด็กวัยนี้จะมีการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดระดับความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย

พัฒนาการเด็กทารกทางด้านสติปัญญา

เด็กวัยทารกมีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในช่วงนี้จะเน้นไปที่การรับรู้ประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น 

  • การมองเห็น 
  • การได้ยิน 
  • การสัมผัส 
  • การดมกลิ่น และการรับรส 

โดยพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในช่วงวัยทารก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะการรับรู้ (0-3 เดือน) ระยะการประสานสัมพันธ์ (3-6 เดือน) และระยะการเริ่มต้นคิด (6-9 เดือน)

พัฒนาการเด็กทารกทางด้านอารมณ์และสังคม

เด็กวัยนี้เริ่มจะเข้าใจและมีแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็ก ได้แก่ พันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และการกระตุ้นจากผู้ใหญ่ โดยอาจแบ่งระยะของพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กวัยนี้ได้เป็น

  • ช่วงอายุ 0-3 เดือน แรกจะเริ่มสบตาและเริ่มส่งเสียง ร้องไห้เพื่อสื่อสารความต้องการ ยิ้มตอบสนองเมื่อได้รับการกระตุ้น เริ่มจดจ่อมองใบหน้าคน เริ่มตกใจเสียงดัง 
  •  ช่วงอายุ 4 – 6 เดือน เริ่มแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว เริ่มจดจำคนเลี้ยงดู เริ่มเล่นกับของเล่น เริ่มหันมามองเมื่อได้ยินชื่อ 
  •  ช่วงอายุ 7 – 9 เดือน เริ่มกลัวคนแปลกหน้า เริ่มพูดคำง่าย ๆ เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ 
  • ช่วงอายุ 10 – 12 เดือน เริ่มแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น และเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่

พัฒนาการเด็กทารกทางด้านภาษาและการสื่อสาร

พัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสารของเด็กวัยทารกจะเริ่มต้นตั้งแต่แรกคลอด 

  • เด็กจะเรียนรู้ภาษาผ่านการฟัง การมอง การเลียนแบบ และการโต้ตอบกับผู้อื่น 
  • เด็กจะร้องไห้เพื่อสื่อสารความต้องการ เช่น หิว ร้อน ไม่สบาย เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เล่นเสียง 
  • เริ่มหันหน้ามาสนใจเมื่อได้ยินเสียงพูด 
  • เริ่มเลียนเสียงที่ได้ยิน 
  • เริ่มเข้าใจคำง่าย ๆ เช่น “ไม่” “มา” “บ๊ายบาย” และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุ 
  • เด็กจะสามาารถพูดคำง่าย ๆ ได้ 2-3 คำ และเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ

ตารางพัฒนาการเด็กทารก วัยแรกเกิด -1 ปี

ช่วงอายุ
พัฒนาการ
0-2 เดือน
  • ตอบสนองต่อการอุ้ม การกล่อม การร้องเพลง
  • มีช่วงเวลาตื่นนอนสั้น ๆ
  • มองหน้าคนอื่นที่ระยะห่างระหว่างใบหน้า 8 นิ้ว
  • งอแงหากความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง
  • ตอบสนองต่อเสียง
  • กำมือแน่นแล้วเริ่มคลายนิ้วออก
  • ยกศีรษะขึ้นชั่วขณะประมาณ 45 องศา เมื่อนอนคว่ำ
  • แยกแยะเสียงคุ้นเคย (พ่อแม่ พี่น้อง ผู้ดูแล)
2-4 เดือน
  • ยิ้มและแสดงอารมณ์
  • หัวเราะ
  • เป่าฟอง ดูดนิ้ว
  • ชอบมองหน้า สบตาผู้คน
  • คว้าผมและเสื้อผ้าของคนใกล้เคียง
  • ยกศีรษะสูงกว่าก้น
  • คว่ำตัวไปด้านข้าง หงายตัวไปด้านข้าง
  • หันศีรษะไปทางเสียงที่ดังระดับหู
  • ยกศีรษะและหน้าอกขึ้นเวลานอนคว่ำ
4-6 เดือน
  • เริ่มจดจำใบหน้าของคนคุ้นเคย เช่น พ่อแม่ ผู้ดูแล
  • ชอบส่องกระจก
  • หัวเราะแสดงถึงความสุขและร่าเริง
  • นั่งได้ช่วยประคองหรือใช้หมอนรอง
  • ยกศีรษะขึ้นได้ 90 องศา เวลานอนคว่ำ
  • ทรงตัวคอได้ดีเวลามีคนอุ้ม
  • ใช้เสียงอ้อแอเพื่อเรียกร้องความสนใจ
  • ยกมือขึ้นเพื่อขอให้ “อุ้มหน่อย”
  • สนใจสีสัน
  • ใช้สายตาติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหว
6-8 เดือน
  • ตอบสนองถ้ามีคนเรียกชื่อตัวเอง
  • ยิ้มหรือหัวเราะเวลาเล่น “จ๊ะเอ๋”
  • นั่งเองได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยประคอง
  • เริ่มคลาน เตรียมคลาน
  • ยืดตัวเพื่อหยิบของที่อยู่นอกระยะแขน
  • มองลงพื้นเมื่อของเล่นหล่น
  • สำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยสายตาและการหยิบของเข้าปาก
8-10 เดือน
  • กลัวการแยกตัวจากพ่อแม่
  • เรียนรู้เสียงพูดโดยการสังเกตปากของคนอื่น
  • ดึงตัวขึ้นยืน โดยอาศัยที่เกาะยืด เช่น ขอบเตียง ขอบเบาะนอน
  • หยิบของชิ้นเล็ก ๆ
  • คลานเข่าได้คล่อง
10-12 เดือน
  • สนุกกับการอ่าน หรือดูหนังสือภาพ
  • กลัวคนแปลกหน้า
  • เปลี่ยนท่าจากคลานเป็นนั่งได้
  • นั่งได้นาน
  • คลานขึ้นบันไดได้
  • เดินโดยอาศัยที่เกาะ
  • ชี้วัตถุได้
  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ
  • พูดคำสั้น ๆ ได้

การดูแลเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็กทารก วัยแรกเกิด -1 ปี

การดูแลเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในช่วงวัยทารกแรกเกิดถึง 1 ปี มีดังนี้

1. ด้านร่างกาย

  • จัดอาหารที่เหมาะสมกับวัย ทั้งนมแม่และอาหารตามวัย เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี
  • ออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น การนวดกดจุด การให้เด็กนอนคว่ำเล่นของเล่น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านเคลื่อนไหวและการใช้กล้ามเนื้อ
  • ดูแลสุขอนามัยอย่างเหมาะสม อาบน้ำ และให้เด็กนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

2. ด้านอารมณ์และสังคม

  • สร้างความผูกพันกับเด็กด้วยการโอบกอด สบตา สัมผัส สื่อสารทางสายตา
  • อ่านหนังสือ เล่นของเล่นด้วยกัน และพูดคุย เพื่อเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง
  • พาเด็กออกไปพบปะผู้คนใหม่ ๆ เพื่อฝึกทักษะทางสังคม

3. ด้านสติปัญญาและการรู้คิด

  • จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เหมาะกับการเรียนรู้และค้นหาด้วยตนเอง
  • ให้ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ผ้านุ่ม ๆ กระดิ่ง หรือของเล่นที่มีเสียงกุ๊งกิ๊ง
  • หากิจกรรมที่ท้าทายให้เด็กฝึกการสังเกต สำรวจ และแก้ไขปัญหาง่าย ๆ

4. ด้านภาษา

  • พูดคุยกับเด็กสม่ำเสมอ แม้ว่าเด็กจะยังไม่เข้าใจคำพูดทั้งหมด แต่การพูดคุยจะช่วยพัฒนาทักษะการฟังและการเรียนรู้ภาษา
  • ร้องเพลงให้ฟัง ท่องคำคล้องจอง และโต้ตอบกับเสียงเรียกของเด็ก
  • เล่าเรื่อง อ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มทักษะการเข้าใจความหมาย

การดูแลในด้านต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทารกทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และภาษา ไปพร้อม ๆ กัน

สรุป

พัฒนาการของเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการในวัย 1-3 ปี

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การเฝ้าติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสม รวมไปถึงการพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพกับกุมารแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก และรับคำแนะนำจากแพทย์ รวมไปถึงการให้เด็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคตามวัย ก็จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเด็กและช่วยให้เด็กมีสุขภาพพื้นฐานที่ดีที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง