พัฒนาการเด็ก…สำคัญอย่างไร?

พัฒนาการเด็ก

พัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ครอบครัว การศึกษา การอบรมเลี้ยงดู รวมไปถึงการให้ความรักและความเอาใจใส่ ซึ่งพ่อ แม่ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วงอายุของเด็ก 0-5 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพัฒนาการทางด้านสมอง เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งการมองเห็น การเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษาและสังคม หากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการ และเตรียมความพร้อมในเรื่องของพัฒนาการ ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย จะส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

พัฒนาการ หมายถึงอะไร?

พัฒนาการ (child development) หมายถึง กระบวนการการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและลักษณะที่เกิดขึ้นทั้งร่างกาย สังคม อารมณ์ สมองและสติปัญญาของเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องตามช่วงวัย เด็กแต่ละคนสามารถมีพัฒนาการ ทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม สภาพแวดล้อม โภชนาการ สุขภาพ การเลี้ยงดู และการส่งเสริมพัฒนาการจากของพ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยรวมแล้วพัฒนาการของเด็กจะเกิดตามลำดับ ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการประเมินพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่ามีความเหมาะสม ก้าวหน้าเป็นไปตามธรรมชาติเหมาะสมกับวัยหรือไม่

พัฒนาการเด็กมีกี่ด้าน?

พัฒนาการเด็กโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

  • พัฒนาการทางกายหรือทางร่างกาย (physical development) เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส (รส สัมผัส การมองเห็น กลิ่น การได้ยิน และการรับรู้อากัปกิริยา หรือการรับรู้ทางร่างกาย) การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (gross motor development) เช่น การทรงตัว การเดิน การวิ่ง การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor – adaptive development) เช่น การหยิบจับ ขีดเขียน การปั้น โดยในวัยทารกจะสามารถหันศีรษะและนั่งตัวตรงได้ หลังจากนั้นจะสามารถเอื้อมมือคว้าสิ่งของ เดินและวิ่งได้ตามลำดับเมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) ในระหว่างนี้เด็กควรจะสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าในสภาพแวดล้อมทางกายภาพตามสัญชาตญาณได้
  • พัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development) ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลเพื่อคิด ใช้เหตุผล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว การใช้ทักษะการคิด ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการจดจำ และทักษะการใช้ภาษา ซึ่งนักจิตวิทยาได้เด็กแบ่งพัฒนาการทางสติปัญญาออกเป็น 4 ระยะ 
    • ระยะแรกเกิดถึง 2 ปี การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผ่านการเคลื่อนไหวและความรู้สึก เช่น การดูด การจับ การมอง และการฟัง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว
    • ระยะ 2 ปี -7 ปี เรียนรู้ที่จะคิดเชิงสัญลักษณ์ ตลอดจนใช้คำหรือรูปภาพเพื่อเป็นตัวแทนของสิ่งต่าง ๆ 
    • ระยะ 7 ปี-11 ปี เริ่มคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เริ่มมองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของบุคคลอื่น จึงเป็นเวลาที่ดีที่ควรเริ่มสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
    • ระยะ 12 ปีขึ้นไป มีพัฒนาการคิดเชิงตรรกะเพิ่มขึ้น พัฒนาความสามารถในการใช้เหตุผลมากขึ้น
  • พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ (social and emotional development) การเรียนรู้วิธีควบคุมสภาวะทางอารมณ์ภายในของตนเอง การจัดการกับอารมณ์โดยไม่ใช้ความรุนแรง การรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กตามช่วงวัย ตัวอย่างเช่น
    • อายุ 6 เดือน ทารกควรมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการแสดงออกทางสีหน้า
    • 1 ปี เด็กควรจะเริ่มมีการแสดงอารมณ์ของการชอบและไม่ชอบควรให้เห็น เช่นเดียวกับการรับรู้ถึงสิ่งที่คุ้นเคยและสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
    • 2 ปี เด็กควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม
    • 3 ปี สามารถแสดงความรู้สึกได้
    • 4 ปี ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ง่าย ๆ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และจัดการอารมณ์โดยไม่ฉุนเฉียวหรือก้าวร้าว
  • พัฒนาการทางภาษา (language development) ความสามารถในการเข้าใจภาษา เช่น ทารกสามารถเข้าใจคำศัพท์โดยที่ยังไม่สามารถพูดได้ หรือก่อนที่เด็กจะสามารถใช้คำพูดได้จะสื่อสารโดยการร้องไห้และแสดงท่าทาง หรือทารกและเด็กเล็กจะมีพัฒนาการทางภาษาโดยการเริ่มพูดทีละคำ

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 5 ช่วงวัย ดังนี้

  • วัยทารกแรกเกิด (ช่วงเดือนแรก): ทารกแรกเกิดจะแสดงการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อสิ่งเร้าภายนอก ขยับศีรษะหรือกำมือได้ สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ รับรู้กลิ่นบางอย่าง ยิ้มหรือร้องไห้เพื่อบอกความต้องการ 
  • วัยทารก (3 เดือน-1 ปี): เด็กวัยทารกจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะและประสานมือเข้าด้วยกันได้ เมื่ออายุ 6-9 เดือน ทารกสามารถนั่งได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย พูดและตอบสนองต่อชื่อ เมื่ออายุ 9 เดือนถึง 1 ปี สามารถหยิบสิ่งของ คลาน และแม้แต่ยืนโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุงได้ 
  • วัยหัดเดินหรือวัยเตาะแตะ (1-3 ปี): เด็กวัยหัดเดินหรือวัยเตาะแตะเรียนรู้ที่จะเดินโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ ขึ้นบันได และกระโดดอยู่กับที่ สามารถถือดินสอสี วาดวงกลม พูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ และในช่วงวัยนี้มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคออทิสติก หากสังเกตพบหรือสงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการผิดปกติ 
  • วัยก่อนเรียน (3-5 ปี): เด็กจะพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของตนเองได้มากขึ้น สามารถโยนและรับลูกบอล กระโดดโลดเต้น ยืนขาเดียวได้ แต่งตัวเอง วาดรูปทรงต่าง ๆ ได้ สามารถพูดประโยคที่สมบูรณ์และพูดได้ 2-3 ประโยคติดต่อกัน ในวัยนี้ผู้ปกครองสามารถเริ่มฝึกให้เด็ก ๆ ใช้ห้องน้ำด้วยตัวเอง
  • วัยเรียน (6-17 ปี): ในช่วงวัยนี้เรียนรู้ที่จะเป็นอิสระ เด็กจะมีพัฒนาการด้านร่างกาย ความคิด อารมณ์ และสังคมอย่างเต็มที่ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ตัดสินใจเอง และมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่หลายหลาย

การประเมินพัฒนาการเด็ก

การประเมินพัฒนาการของเด็กคือกระบวนการที่ใช้เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการเติบโตและการพัฒนาของเด็ก โดยการวัดและวิเคราะห์การเจริญเติบโตของเด็กใน 4 ด้านหลัก ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา วัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคน ช่วยวางแผนส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เหมาะสม ค้นหาปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก และเพื่อให้คำแนะนำ แก่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก

วิธีการประเมินพัฒนาการเด็ก

  • การสังเกต: สังเกตพฤติกรรมของเด็กในสถานการณ์ต่าง ๆ
  • การซักถาม: การถามข้อมูลต่าง ๆ ของเด็กจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก
  • การทดสอบ: ใช้เครื่องมือทดสอบมาตรฐาน
  • การประเมินผลงาน: ประเมินผลงานของเด็กจากกิจกรรมต่าง ๆ

การเสริมพัฒนาการเด็ก

การเสริมพัฒนาการเด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ในทุก ๆ ด้าน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การเลี้ยงดูในครอบครัว
      • ให้ความรักและความเอาใจใส่ เช่น การโอบกอด การลูบ และการสบตา ล้วนช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและมั่นคง
      • พูดคุยและเล่นกับเด็ก การพูดคุย เล่น และอ่านนิทานให้เด็กฟัง ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ความคิด และจินตนาการ
      • สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและกระตุ้นการเรียนรู้ จัดเตรียมพื้นที่ให้สามารถเล่นและเรียนรู้ได้อย่างอิสระ มีของเล่นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับวัย
      • เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งเด็กจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่รอบข้าง ดังนั้นควรเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านต่าง ๆ เช่น การพูดจา กิริยา มารยาท และความรับผิดชอบ
  • ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย
      • พัฒนาการด้านร่างกาย 
      • พัฒนาการด้านภาษา 
      • พัฒนาการด้านความคิด
      • พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์
      • พัฒนาการด้านสังคม
  • กิจกรรมเสริมพัฒนาการ
    • รับการตรวจสุขภาพกับกุมารแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก และรับคำแนะนำจากแพทย์ รวมไปถึงการให้เด็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคตามวัย ก็จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเด็กได้
    • การให้เด็กไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อเด็กจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเล่นกับเพื่อน ฝึกทักษะทางสังคม และพัฒนาการด้านต่าง ๆ
    • หากิจกรรมเสริมพัฒนาการ เช่น ดนตรี ศิลปะ กีฬา ภาษา หรือกิจกรรมอื่น ๆ

สรุป

พัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กในทุกด้าน เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคต การสนับสนุนและเสริมพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและเรียนรู้ เพื่อให้บุตรหลานของท่านมีพัฒนาการที่ดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง