วัคซีนเด็กจำเป็นอย่างไร? เด็กแต่ละวัยควรได้รับวัคซีนอะไรบ้าง?

วัคซีนเด็ก

เพราะพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูก ๆ เติบโตขึ้นอย่างสดใสแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีตามวัย ไม่เจ็บป่วยด้วยโรครุนแรงต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยปัจจุบันมีโรคติดต่อหลายโรค บางโรคอาจรุนแรงจนทำให้เกิดความพิการต่าง ๆ ตามมา และเด็กเล็กเป็นวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที่ ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคเหล่านี้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่าดังนั้นการได้รับวัคซีนที่เหมาะสมตามวัยจะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ และนอกจากวัคซีนจะป้องกันการเจ็บป่วยในวัยเด็กได้แล้ว วัคซีนส่วนใหญ่ยังสามารถป้องการเจ็บป่วยเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่ได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการได้รับวัคซีนแต่ละชนิดในเด็กเล็ก จะมีเวลาที่เหมาะสมแตกต่างกันไปตามชนิดของวัคซีน เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของวัคซีนนั้น ๆ  วัคซีนสำหรับเด็กแต่ละวัยมีอะไรบ้าง และควรฉีดเมื่อไหร่ บทความนี้จะกล่าวถึงความสำคัญและระยะเวลาที่เหมาะสมของวัคซีนเด็กแต่ละชนิดทั้งวัคซีนหลักที่มีการแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและวัคซีนเสริมที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมให้กับบุตรหลาน

สารบัญ

วัคซีนเด็กสำคัญอย่างไร?

วัคซีนเด็กมีความสำคัญ เนื่องจากมีโรคติดต่อหลายโรคที่ทำให้เด็กป่วยรุนแรง หรือทำให้เกิดความพิการ เป็นหมัน หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น โรคโปลิโอ โรคหัด หรือโรคคอตีบ โรคไอกรน เป็นต้น เชื้อที่ก่อโรคเหล่านี้บางชนิดกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป บ้างก็แอบแฝงมากับผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการป่วยแต่สามารถแพร่โรคและทำให้เด็กป่วยได้ อีกทั้งเด็กเล็กยังมีลักษณะนิสัยตามธรรมชาติที่จะสำรวจทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มักหยิบจับอะไรได้ก็เอาเข้าปาก ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับเชื้อโรค 

วัคซีนเด็กที่ได้แนะนำให้ได้รับตามวัยจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันก่อนที่จะได้รับเชื้อ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยป้องกันเด็กจากการติดเชื้อหรือการป่วยที่รุนแรงได้

เพราะการป้องกันการเกิดโรคย่อมดีกว่าการรักษาโรคการได้รับวัคซีนจะช่วยป้องกันโรค ลดการเจ็บป่วยรุนแรง และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อความพิการที่อาจเกิดตามมาหลังการติดเชื้อ อีกทั้งลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้อีกด้วย

ความสำคัญของวัคซีนเด็ก

วัคซีนเด็กมีอะไรบ้าง?

วัคซีนสำหรับเด็กแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ วัคซีนหลักที่เด็กทุกคนต้องได้รับ และวัคซีนเสริมซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง

วัคซีนหลัก (วัคซีนพื้นฐาน)

วัคซีนหลักเป็นวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคนตามข้อกำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคที่ระบาดในเด็กที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง และอาจก่อให้เกิดความพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

  1. วัคซีนบีซีจี (BCG): ป้องกันวัณโรค เป็นวัคซีนที่มักจะฉีดที่ไหล่ซ้าย ทำให้เกิดฝีที่เมื่อแตกแล้วจะเกิดเป็นรอยแผลเป็นติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่
  2. วัคซีนตับอีกเสบบี (HBV): ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นไวรัสตับอักเสบที่พบการระบาดมากที่สุดในคนไทย และเป็นสาเหตุหลักของโรคตับอักเสบเรื้อรังและมะเร็งตับ
  3. วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก (DTwP) และฮิบ (Hib): ป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโรคฮิบที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทั้งสี่โรคนี้ทำให้เกิดการป่วยรุนแรงในเด็กและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ทั้งหมด โดยโรคคอตีบจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคไอกรนทำให้ปอดอักเสบหรือปอดแฟบ โรคบาดทะยักทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมหดเกร็งจนหายใจเองไม่ได้ และโรคฮิบคือการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (hemophilus influenza type B; Hib) ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ 
  4. วัคซีนโปลิโอ: ป้องกันโปลิโอ โดยมีทั้งแบบฉีด (IPV) และแบบหยอดทางปาก (OPV) วัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งทำให้สมองอักเสบ เป็นอัมพาต และพิการในได้
  5. วัคซีนโรต้า (Rota): ป้องกันการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งมักระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ทำให้เกิดท้องร่วงรุนแรงในเด็กเล็ก ข้อควรระวังของวัคซีนโรต้า คือไม่ควรให้วัคซีนชนิดนี้ในเด็กที่อายุเกิน 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคลำไส้กลืนกัน หากเด็กอายุเกินกว่ากำหนดต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้แพทย์พิจารณาข้อดีข้อเสียของการได้รับวัคซีน 
  6. วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR):  ทั้งสามโรคนี้เป็นโรคที่อันตรายซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ โดยหัดเป็นเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่ติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากอาการรุนแรงจะทำให้เกิดปอดบวมไข้สมองอักเสบจนอาจเสียชีวิตได้ ส่วนคางทูมเป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รังไข่หรืออัณฑะอักเสบ และนำไปสู่การเป็นหมันได้ ส่วนหัดเยอรมัน เป็นโรคไข้ออกหัดอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดสมองอักเสบได้
  7. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE):  ไวรัสเจอีมียุงเป็นพาหะของโรค ทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรง ชักและความผิดปกติทางระบบประสาท
  8. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (influenza): ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นโรคที่มีการระบาดทุกปี

นอกจากนั้น ในปีนี้ (พ.ศ.2566) สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้จัดให้วัคซีนโควิด-19 และวัคซีนเอชพีวีอยู่ในกลุ่มวัคซีนหลักสำหรับเด็กด้วยเช่นกัน

วัคซีนเสริม

วัคซีนเสริมเป็นวัคซีนที่ให้เป็นทางเลือก โดยวัคซีนบางตัวสามารถใช้ทดแทนวัคซีนหลักในการป้องกันโรคชนิดเดียวกันได้ 

  1. วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ (pentavalent) เป็นวัคซีนรวม 5 โรค
  2. วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ-ตับอักเสบบี (hexavalent) เป็นวัคซีนรวม 6 โรค
  3. วัคซีนตับอักเสบเอ
  4. วัคซีนอีสุกอีใส
  5. วัคซีนไอพีดี 
  6. วัคซีนอีวี 71
  7. วัคซีนไข้เลือดออก
  8. วัคซีนพิษสุนัขบ้า

วัคซีนเสริมจำเป็นหรือไม่?

วัคซีนเสริมเป็นวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นเดียวกับวัคซีนหลัก แต่เป็นวัคซีนที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในแผนการสร้างภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคอาจจะไม่ได้สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม วัคซีนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น การเลือกฉีดวัคซีนเสริมจึงควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงและความจำเป็นของเด็กเป็นกรณีไป

เด็กควรได้รับวัคซีนเมื่อไหร่?

การจะให้วัคซีนในเด็กเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย และโอกาสที่เด็กจะได้รับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม โดยมีคำแนะนำการได้รับวัคซีนตามช่วงอายุเพื่อความปลอดภัยและได้ผลการป้องกันโรคที่ดีที่สุด

จากตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยประจำปีพ.ศ. 2566 ที่แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เด็กทุกคนควรได้วัคซีนเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด โดยจะเป็นวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันวัณโรค และวัคซีนตับอีกเสบบีเข็มที่ 1 (HBV1) หลังจากนั้นก็จะมีนัดฉีดวัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบและอาจฉีดวัคซีนตับอีกเสบบี ทุก 2 เดือน จนครบสามเข็ม และหยอดวัคซีนโรต้าจนครบ 3 ครั้งเช่นกัน หลังจากนั้นการนัดฉีดวัคซีนก็จะห่างขึ้น โดยมีวัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อย่างละ 2 เข็ม ดังรายละเอียดในภาพ

ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย

ทำไมมีวัคซีนเด็กมีหลายตัว?

เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์มีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดวัคซีนใหม่ ๆ ที่ได้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ป้องกันโรคจากการติดเชื้อดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และช่วยป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีการพัฒนาจนมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็ง 2 ชนิดได้ คือ มะเร็งปากมดลูกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมะเร็งตับที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนเหล่านี้จะลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับในอนาคตได้

หลังจากได้รับวัคซีนแล้วเด็กยังมีโอกาสป่วยได้หรือไม่?

การป้องกันการเจ็บป่วยของวัคซีนแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับโรคนั้น ๆ ซึ่งในบางโรควัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเจ็บป่วยของเด็กได้ เช่น โรคอีสุกอีใส โดยการติดเชื้อในวัยเด็กจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดในวัยผู้ใหญ่ การได้รับวัคซีนอีสุกอีใสในเด็กจึงถือเป็นการป้องกันโรคได้ทั้งอีสุกอีใสและงูสวัด ในขณะที่บางโรควัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% แต่ช่วยป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ เช่น วัคซีนโรต้า เป็นต้น

การนัดฉีดวัคซีน

การนัดฉีดหรือรับวัคซีนควรเป็นไปตามคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามผู้ปกครองอาจมีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนนัดการได้รับวัคซีนของเด็ก หากจำเป็นต้องเลื่อนนัด ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังได้รับวัคซีน

หลังจากได้รับวัคซีนเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการข้างเคียงได้ ส่วนใหญ่อาการข้างเคียงนี้มีเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการใด ๆ เลย อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว มีผื่นหรือบวมแดงหรือรู้สึกเจ็บในบริเวณที่ฉีด โดยอาการเหล่านี้มักจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน

การดูแลเด็กหลังได้รับวัคซีน

หลังการฉีดวัคซีนทุกชนิดจะทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมักจะทำให้เด็กมีไข้ตัวร้อน มีผื่นหรือบวมแดงในบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย งอแง ร้องไห้มากขึ้น ถือเป็นอาการข้างเคียงตามปกติ ผู้ปกครองควรดูแลตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ก็ทำการลดไข้โดยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นอย่างสม่ำเสมอ ให้ยาลดไข้ ระวังอย่าให้ไข้สูง และอาการจะเริ่มดีขึ้นใน 1-2 วัน

อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนแบบไหนที่ต้องพาเด็กไปโรงพยาบาล

แม้ว่าวัคซีนสำหรับเด็กมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่อาจเกิดการแพ้รุนแรงหลังฉีดวัคซีนได้เช่นกัน หากหลังการฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาเด็กมาโรงพยาบาลทันที  

  • มีไข้ ปวด บวม ผื่น โดยมีอาการเร็วมากหลังรับวัคซีนภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง
  • มีอาการบวมรอบตา หน้า ปาก เท้า หรือมีลมพิษขึ้น
  • มีอาการหายใจติดขัด มีเสียงหวี๊ดขณะหายใจ หรือหายใจลำบาก 
  • หากรุนแรงอาจมีความดันเลือดตก ช็อก หมดสติได้ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

สรุป

เด็กเล็กเป็นวัยที่จะป่วยรุนแรงจากโรคติดเชื้อได้หลายชนิด วัคซีนเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีสุขภาพที่ดี เพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรง และนอกจากจะป้องหันโรคและอาการป่วยรุนแรงได้แล้ว การได้รับวัคซีนจะช่วยป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้อีกด้วย

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง