ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคที่อยู่ประจำประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในแต่ละปีคนไทยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมากโดยสถิติของปี 2565 จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีจำนวนราว 40,000 คน คร่าชีวิตไปมากถึง 27 คน และสถิติจำนวนผู้ป่วยนี้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกมากที่สุดคือ กลุ่มเด็ก ๆ ซึ่งทำให้สถานการณ์ของโรคยิ่งน่ากังวลมากขึ้น
สารบัญ
ไข้เลือดออก คืออะไร?
ไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever; DHF) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า (dengue virus (อ่านว่า เดงกีไวรัส และย่อเป็น DENV) โดยชื่อโรคที่เรียกว่า ไข้เลือดออก นั้นมาจากอาการเด่นของโรคที่จะทำให้เป็นไข้สูง และมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง โดยเป็นจุดแดงขนาดเล็ก กระจายไปทั่วตามลำตัวและแขนขา
ไข้เลือดออกติดต่อได้ไหม?
ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง การแพร่เชื้อของไข้เลือดออกจะต้องอาศัยยุงเป็นตัวกลางโดยเฉพาะยุงลาย เป็นพาหะนำโรค ด้วยลักษณะการแพร่ระบาดเช่นนี้ ยุงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดวงจรการติดต่อของโรคไข้เลือดออก กรณียกเว้นที่ไข้เลือดออกจะติดต่อจากคนสู่คนได้ คือ การแพร่จากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจากยุงลายที่มีเชื้อไวรัสอยู่ โดยปัจจุบันมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบการระบาดทุกสายพันธุ์ แต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
โดยการแพร่ระบาดจะเกิดจากยุงลายดูดเลือดจากคนที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ทำให้เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าไปในตัวยุง ซึ่งไวรัสนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้ในตัวยุง แล้วย้ายไปอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง หลังจากนั้นเมื่อยุงดูดเลือดไวรัสไข้เลือดออกก็จะออกมาพร้อมกับน้ำลายของยุงเข้าสู่คนที่ถูกยุงกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อต่อไป ยุงที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแล้ว จะสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้เรื่อย ๆ ตลอดอายุขัยของมัน ทำให้ยุงหนึ่งตัว สามารถแพร่กระจายเชื้อไปได้ทั่วชุมชน โดยยุงที่สามารถนำเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ดี คือ ยุงลาย โดยในประเทศไทยพบยุงลายอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ยุงลายบ้าน กับยุงลายสวน ซึ่งนอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยุงลายยังเป็นพาหะของไวรัสก่อโรคชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า และอีกหลายสิบโรคในพื้นที่เขตร้อนอื่น ๆ ทั่วโลก
อาการของไข้เลือดออก
ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือในบางรายมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่การติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อต่างสายพันธ์จะพัฒนาไปสู่โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever: DHF) ซึ่งอาการไข้เลือดออกแบ่งได้เป็นระยะต่าง ๆ คือ
ไข้เลือดออกระยะฟักตัว (Incubation Period)
ไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวประมาณ 4–10 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส โดยในช่วงนี้ไวรัสไข้เลือดออกจะเพิ่มจำนวนในเลือดโดยยังไม่ทำให้เกิดอาการป่วย แต่ผู้ติดเชื้อในระยะนี้ก็สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้แล้วหากถูกยุงกัด
ไข้เลือดออกระยะไข้สูง (Febrile Phase)
อาการในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 2–7 วัน โดยมักจะมีอาการ
- ไข้สูง (40°C)
- ปวดหัวปวดตามาก
- ปวดข้อและกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ผื่นแดงจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา
ไข้เลือดออกระยะวิกฤต (Critical Phase)
ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ไข้เริ่มลดลง แต่เป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวัง เสี่ยงต่อภาวะช็อกเนื่องจากอาจมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน ระยะนี้มักเกิดขึ้นในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง อาการของระยะนี้มักเกิดหลังจากที่ไข้ลดลงแล้ว ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายเพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้ อาการที่พบได้ ได้แก่
- อาเจียนซ้ำ ๆ โดยไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยา
- หายใจเร็ว
- มีเลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟัน
- อ่อนเพลียมาก
- กระสับกระส่าย
- อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
- หิวน้ำมาก
- มือเท้าเย็น
- ปัสสาวะออกน้อย
- ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา
- ความดันเลือดต่ำในผู้ที่มีอาการรุนแรง
- ภาวะช็อก หรือเสียชีวิตได้
หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ไข้เลือดออกระยะฟื้นตัว (Recovery Phase)
ระยะฟื้นตัวเป็นระยะที่อาการต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น ร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ตามลำดับ เป็นระยะที่มีความปลอดภัย อาการที่บ่งบอกว่าเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ได้แก่
- ไข้ลดลง
- ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ
- ชีพจรกลับมาเป็นปกติ
- รู้สึกอยากรับประทานอาหาร
- ปัสสาวะมากขึ้น
- อาจยังมีผื่นแดงและจุดเลือดออกเล็ก ๆ เหลืออยู่ในผู้ป่วยบางราย
- ผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจยังรู้สึกอ่อนล้าไปได้อีกหลายสัปดาห์ แต่อาการต่าง ๆ จะค่อยหายไปจนเป็นปกติ
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกใช้เกณฑ์จากอาการสำคัญของโรค คือ มีไข้สูงร่วมกับมีเลือดออกง่าย นอกจากนั้น อาจยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดพบเกล็ดเลือดต่ำ เลือดข้นขึ้น หรือการพบเชื้อไวรัสในเลือด อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกมีความยากในการวินิจฉัย เนื่องจากในช่วง 1-2 วันแรกที่เริ่มมีไข้สูง มักจะยังไม่มีจุดเลือดออก ผลเลือดก็มักจะยังปกติ ทำให้ต้องรอสังเกตอาการและเจาะเลือดซ้ำในวันถัด ๆ ไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น ดังนั้นหากสงสัยหรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกจึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอาการรุนแรง
การรักษาไข้เลือดออก
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะกับไวรัสไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองโดยมีแนวทางดังนี้
- ในระยะที่มีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น ห้าม! ใช้ยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน (aspirin), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), หรือยาแก้อักเสบอื่น ๆ เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (หรือ NSAIDs) เพราะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เกล็ดเลือดทำงานได้น้อยลง อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นได้
- ในระยะไข้สูงในเด็กจำเป็นต้องให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้บ่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการชักจากไข้สูง
- หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถทานยาแก้อาเจียนได้ และควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- สังเกตอาการเพื่อป้องกันภาวะช็อก โดยระยะที่มีความเสี่ยงมากที่สุดมักเป็นช่วงที่ไข้เริ่มลดลง ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรเช็กอาการบ่งชี้ ได้แก่ ปัสสาวะน้อยลงหรืออาจไม่มีเลย ปวดท้อง มือเท้าเย็น หน้ามืด รู้สึกกระสับกระส่าย หรืออาจซึมลง หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ไข้เลือดออกกี่วันหาย?
โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากมีอาการไม่มาก อาการป่วยก็มักจะหายได้ใน 7-14 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องระวังไม่ให้โดนยุงกัด เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นต่อไปได้
การป้องกันไข้เลือดออก
ยุงคือพาหะของการระบาดของไวรัสไข้เลือดออก ดังนั้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด จึงเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด โดยวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกมีดังนี้
- การกำจัดยุง และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณบ้านและในชุมชน ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังป้องกันไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ฝาเปิด เช่น ในกระถางไม้น้ำต่าง ๆ ทุกสัปดาห์
- ในระดับสาธารณสุขชุมชนควรมีการฉีดพ่นยาเพื่อกำจัดยุงในพื้นที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก
- การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการติดมุ้งลวดไม่ให้ยุงเข้ามาภายในบ้าน การนอนกางมุ้ง การใช้ยาจุดกันยุง การทายากันยุง การใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว เป็นต้น
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ
- ชนิดที่ 1 เหมาะสำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาก่อนที่มีอายุ 6-45 ปี โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำที่มีอาการรุนแรง
- ชนิดที่ 2 สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก
สรุป
ไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่มากับยุง ปัญหาโรคไข้เลือดออกจึงมีทั้งด้านที่เป็นการแพทย์และด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน การป้องกันไข้เลือดออกจึงต้องทำอย่างทั่วถึงทั้งในระดับบุคคล และระดับสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อให้ทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ในสังคมปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก