เมื่อเด็กชัก รับมืออย่างไร

เด็กชัก

ภาวะชักจากไข้มักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก สาเหตุและกลไลการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด ถึงแม้ภาวะเด็กชักจากไข้โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและมักไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว แต่ก็สร้างความกังวลใจให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก การมีความรู้เกี่ยวกับอาการและสาเหตุของอาการชักจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลปฐมพยาบาลเด็กชักเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามหากเด็กชักเป็นระยะเวลานาน หรือชักซ้ำบ่อย อาจส่งผลต่อพัฒนาการ ความจำและการเรียนรู้ของเด็ก อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บจากการชัก การติดเชื้อ หรือภาวะขาดออกซิเจนในสมองได้ ดังนั้นหากพ่อแม่สงสัยถึงอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เด็กชัก คืออะไร

เด็กชัก เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาการชักในเด็กอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป อาจเป็นการเกร็งตัว การกระตุก หรือการหมดสติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวหรือเกิดซ้ำ ๆ ก็ได้

เด็กชักจากไข้สูง คือ

เด็กชักจากไข้สูง หรือที่เรียกว่า Febrile Seizures  เป็นภาวะที่เด็กมีอาการชักร่วมกับไข้สูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มักเกิดขึ้นในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี โดยที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง และไม่มีประวัติชักโดยที่ไม่มีไข้มาก่อน ส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและมักไม่ส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว ภาวะเด็กชักจากไข้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ภาวะเด็กชักจากไข้แบบธรรมดา (simple febrile seizures) และภาวะเด็กชักจากไข้แบบซับซ้อน (complex febrile seizures) ในเด็กพบภาวะชักจากไข้แบบธรรมดาบ่อยกว่าโดยพบประมาณ 70-80 %

เด็กชักจากไข้สูง

อาการเด็กชักจากไข้

อาการชักจากไข้แบบธรรมดา (simple febrile seizures)  

  • ชักเกร็งแบบกระตุกเกิดขึ้นทั้งร่างกาย
  • มีระยะเวลาสั้นกว่า 15 นาที
  • เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวภายใน 24 ชั่วโมง

อาการชักจากไข้แบบซับซ้อน (complex febrile seizures)

  • เป็นการชักลักษณะเฉพาะที่ หรือ มีการอาการตึง กระตุกเพียงข้างเดียวของลำตัว
  • ระยะเวลาเกิดขึ้นนานกว่า 15 นาที
  • มีการชักซ้ำใน 24 ชั่วโมงหลังจากการชักครั้งแรก

อาการหลักของอาการชักจากไข้ ได้แก่

  • การเกร็ง กระตุกทั่วร่างกาย: เด็กที่เป็นไข้ชักจะสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อทั้งสองข้างของร่างกาย มักจะมีอาการสั่น  กล้ามเนื้อเกร็งแข็งตัวทั้งตัวหรือบางส่วน
  • สูญเสียสติ: เด็กอาจหมดสติหรือมองเห็นตาของเด็กเหลือกไปมา 
  • สูญเสียการควบคุม: เด็กอาจอาเจียน น้ำลายไหล ปัสสาวะ หรือถ่ายอุจจาระ

สาเหตุเด็กชักจากไข้

สาเหตุที่แน่ชัดของการชักจากไข้สูงในเด็กยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น ไข้สูง อาจทำให้เกิดการรบกวนกระแสไฟฟ้าในสมอง จนเกิดอาการชักขึ้นมาได้ นอกจากนี้พบว่ามีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับเด็กชักจากไข้ ได้แก่

  • พันธุกรรม เด็กที่มีประวัติครอบครัวเคยมีภาวะชักจากไข้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะชักจากไข้มากกว่าเด็กทั่วไป
  • การติดเชื้อ ไข้ที่กระตุ้นให้เกิดอาการชักจากมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และพบได้น้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสที่ทำให้เกิดส่าไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคเริมมักมาพร้อมกับไข้สูง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักจากไข้ได้
  • หลังการฉีดวัคซีน ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักจากไข้อาจเพิ่มขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนเด็กบางชนิด เช่น วัคซีนบาดทะยัก ไอกรน และวัคซีนหัด ผื่นแดง หูแดง เด็กอาจมีไข้ต่ำหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งไข้เป็นสาเหตุของอาการชักไม่ใช่ตัววัคซีน
  • ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ การขาดน้ำหรือความผิดปกติของระดับโซเดียมในเลือดอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดภาวะเด็กชักได้

การรักษาเด็กชักจากไข้

การรักษาอาการชักจากไข้ มุ่งเน้นไปที่การลดไข้และป้องกันไม่ให้เกิดอาการชักซ้ำ โดยทั่วไปแล้ว อาการชักจากไข้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านชักในการรักษา แต่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

การดูแลที่บ้าน

  • ให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ตามคำแนะนำของแพทย์
  • เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น (ไม่ใช่น้ำเย็น) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
  • ให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ชักซ้ำ ไข้สูงไม่ลด หรือมีอาการ อื่น ๆ ที่น่าสงสัย ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • ป้องกันการติดเชื้อ พาเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนด และดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล

การรักษาที่โรงพยาบาล

  • การให้ยาในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันการชักซ้ำ เช่น ยาเบนโซไดอะเซปิน (benzodiazepine) แต่การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • การตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจน้ำไขสันหลัง หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อหาสาเหตุของการชักและวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง

การปฐมพยาบาลเด็กชักเบื้องต้น

  • ดูความปลอดภัยรอบ ๆ ตัวเด็ก ย้ายวัตถุแข็งหรือของมีคมออกจากบริเวณรอบตัวเด็ก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ สิ่งสำคัญคือต้องมีสติให้มากที่สุด
  • บันทึกเวลาที่เด็กมีอาการชัก หากอาการชักนานเกิน 5 นาที และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ควรรีบพาไปโรงพยาบาลหรือโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉิน
  • วางเด็กลงบนพื้นอย่างช้า ๆ และเบา ๆ อย่าวางเด็กบนโต๊ะหรือเตียง (อาจตกลงมาได้) และอย่าพยายามอุ้มหรือกอด (อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ)
  • วางเด็กในท่าช่วยชีวิต นอนตะแคงซ้ายโดยแขนข้างล่างเหยียดตรง เพื่อเป็นเบาะรองศีรษะ ช่วยป้องกันการสำลักของเหลว (น้ำลายหรืออาเจียน) เข้าไปในปอด
  • อย่าใส่สิ่งใด ๆ ลงไปในปาก ห้ามใช้นิ้วหรือวัตถุอื่น ๆ สอดเข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้
ปฐมพยาบาลเด็กชักเบื้องต้น

การป้องกันเด็กชัก

แม้ว่าการชักบางชนิดอาจป้องกันไม่ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการชักได้ด้วยการดูแลสุขภาพที่ดีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

  • ควบคุมไข้: เมื่อเด็กมีไข้ ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และให้ยาลดไข้ แต่หากไข้สูงไม่ลด ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • ป้องกันการติดเชื้อ: พาเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนด รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น: หากทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชักในเด็ก ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เช่น การอดนอน การกะพริบแสงจ้า หรือเสียงดัง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: อาหารที่มีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้ร่างกายแข็งแรง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ: การพักผ่อนที่เพียงพอช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟู
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความเครียด
  • ปรึกษาแพทย์: หากลูกมีประวัติการชัก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลและป้องกันอาการชักซ้ำในระยะยาว

ภาวะแทรกซ้อนจากการชัก

เด็กชักจากไข้ส่วนใหญ่มักไม่มีผลกระทบในระยะยาว อาการชักจากไข้แบบง่ายไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมอง หรือพัฒนาการเรียนรู้ และไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกถึงภาวะร้ายแรงอื่น ๆ 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ การเกิดอาการชักซ้ำ เป็นเรื่องปกติที่เด็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 เดือน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นอาการชักจากไข้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำ คือ

  • อาการชักครั้งแรกเกิดจากไข้ต่ำ
  • อาการชักเป็นอาการแรกของการเจ็บป่วย
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นอาการชักจากไข้
  • อายุต่ำกว่า 18 เดือนเมื่อเกิดอาการชักครั้งแรก

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ (พบได้น้อย)

  • ความเสียหายต่อสมอง: ในกรณีที่อาการชักนานมาก หรือเกิดซ้ำบ่อย อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้ แต่เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก

  • ความผิดปกติทางพัฒนาการ: บางการศึกษาพบว่าเด็กที่มีอาการชักจากไข้ซ้ำบ่อย อาจมีความล่าช้าทางด้านภาษาในช่วงวัยเด็ก แต่โดยรวมแล้ว ผลกระทบต่อพัฒนาการโดยรวมมักไม่รุนแรง

สรุป

ภาวะเด็กชักจากไข้สูงยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่สมองของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย เมื่อมีไข้สูงสมองจึงตอบสนองด้วยการเกิดอาการชัก โดยทั่วไปสามารถหายได้เอง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของเด็ก แต่อย่างไรก็ตามการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและการบาดเจ็บในเด็กได้ หากมีอาการชักรุนแรงควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทันท่วงที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง