โรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากละเลยอาการเตือนจนเกิดอาการอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักสับสนและเข้าใจผิดว่าอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร หรือ อาการของกรดไหลย้อน บางรายมีอาการปวดหลังแต่ไม่ทราบว่านั่นเป็นการปวดร้าวจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าไม่ต้องมาพบแพทย์แค่ซื้อยากินเอง จนปล่อยทิ้งไว้ทำให้มีอาการรุนแรง และเสี่ยงกับการเกิดผลข้างเคียงตามมา
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง รูปร่างท้วม อายุประมาณ 40 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน ในผู้ชายก็พบนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน บางครั้งสามารถพบผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ในคนอายุน้อยที่มีโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โดยในช่วงแรกมักไม่มีอาการ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะมีโอกาสเกิดโรคได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% ต่อปี
สารบัญ
สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงเกินไป จนเกิดการตกตะกอนเกิดเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นมา ซึ่งนิ่วจากคอเลสเตอรอล (cholesterol gallstones) นี้จะมีสีออกเหลือง หรือสาเหตุอาจเกิดจากการมีสารบิลิรูบิน (bilirubin) ในน้ำดีที่มากเกินไปจนทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว
ลักษณะนิ่วในถุงน้ำดีที่พบ มักเป็นก้อนกลมหรือเหลี่ยม ๆ สีเข้ม ๆ คล้ายกรวดหิน มีสีเหลืองหรือดำ มักจะมองไม่เห็นจากภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นจะเป็นนิ่วที่มีหินปูนเกาะ หลายคนอาจสับสนระหว่างนิ่วในถุงน้ำดี กับนิ่วในไตหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแม้จะเรียกนิ่วเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละตำแหน่ง ส่วนประกอบก็ไม่เหมือนกัน โดยที่นิ่วในไตและนิ่วในทางเดินปัสสาวะมักจะเห็นได้จากการเอกซเรย์
โรคนิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น การมีเม็ดเลือดแดงแตกพร้อมกันเป็นจำนวนมากจากโรคอื่น ๆ ทำให้มีบิลิรูบินถูกขับออกมากับน้ำดีมากเกินไป จนเกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีเรียกว่า นิ่วจากเม็ดสี (pigment gallstones) นิ่วชนิดนี้จะมีสีดำคล้ำ นอกจากนี้ สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดจากถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ดี มีน้ำดีเข้มข้นเหลือค้างอยู่ในถุงน้ำดี ทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน
อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี
โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีในช่วงแรกมักจะมีเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดตื้อ ๆ จุกแน่นท้องใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องอืด แน่นท้อง โดยเฉพาะหลังจากกินอาหารมันหรือหลังอาหารมื้อใหญ่ บางคนอาจคิดว่าเป็นอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร หากปล่อยทิ้งไว้จนก้อนนิ่วในถุงน้ำดีเคลื่อนมาอุดปากถุงน้ำดี จะทำให้ปวดท้องรุนแรงมากขึ้นทำให้อาจมีอาการปวดอยู่นานหลายชั่วโมง และอาการปวดนี้มักจะไม่หายไปเอง อาจจะมีอาการปวดร้าวไปด้านหลัง ทำให้เหมือนปวดหลังบริเวณระหว่างสะบักหรือไหล่ขวา ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นอาการของนิ่วในถุงน้ำดี ต่อมามักมีจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดถุงน้ำดีอักเสบ ยิ่งถ้านิ่วหลุดไปอุดตันท่อน้ำดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง และอาจรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี
แพทย์จะสอบถามถึงอาการบ่งชี้ของโรคดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จากนั้นจะทำการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะช่วงท้อง โดยกดบริเวณใต้ชายโครงขวา รวมถึงการทำอัลตราซาวนด์บริเวณท้อง ในคนไข้บางรายอาจจำเป็นต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูนิ่วในท่อน้ำดี และภาวะแทรกช้อนอื่น เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ หรือ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
ในรายที่ไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน หรือมีข้อบ่งชี้จำเป็นอื่น ๆ แต่อาจทำให้มีอาการปวดท้องเกิดขึ้นบ่อย หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกช้อนจากนิ่วในถุงน้ำดี
หากจำเป็นต้องผ่าตัด ปัจจุบันแพทย์มักแนะนำการผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง โดยจะมีแผลลักษณะรูขนาดเล็กที่หน้าท้อง 3-4 จุด การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีแผลเล็ก เจ็บแผลน้อย ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ใช้เวลาแค่ 1-2 วันก็กลับบ้านได้
แต่หากมีอาการหรือสงสัยว่าจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดีแล้วไม่รีบปรึกษาแพทย์และรอจนอาการแย่ลง อาจเกิดถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ทำให้จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งแผลจะใหญ่กว่า ปวดแผลนาน ต้องพักฟื้นนานกว่า และมีความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้นหากสงสัยควรปรึกษาแพทย์และหากตรวจพบโรคนิ่วในถุงน้ำดีควรรีบรักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
ส่วนการรักษาด้วยยาเป็นเพียงแค่การระงับอาการ ส่วนการสลายนิ่วยังไม่ใช่การรักษาที่ได้ผลดีกับนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นความแตกต่างกับการรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่การสลายนิ่วจะให้ผลการรักษาที่ดี ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่ได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว ผู้ป่วยอาจจะกินอาหารพวกมัน ๆ หรืออาหารที่มีไขมัน ได้น้อยลงเพราะถ้ากินอาหารมัน ๆ หรือ มากเกินอาจมีอาการท้องอืด หรือถ่ายอุจจาระมีมันลอยได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นแค่ช่วงแรก หลังจากนั้นร่างกายผู้ป่วยจะปรับตัวและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป
นิ่วในถุงน้ำดีหายเองได้หรือไม่?
นิ่วในถุงน้ำดีที่ขนาดเล็ก ๆ บางครั้งอาจจะหลุดลงมาในท่อน้ำดี แล้วไหลผ่านออกมาที่ลำไส้เล็ก ปะปนไปกับอาหาร และถูกขับทิ้งออกมากับอุจจาระ แต่ส่วนใหญ่นิ่วในถุงน้ำดีที่หลุดมาเองมักจะค้างอยู่ในท่อน้ำดี แล้วจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้ทราบถึงภาวะสุขภาพของตัวเอง และป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ
หากเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใด
เนื่องจากคอเลสเตอรอลเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของ การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน มันหมู ไส้กรอก เนย ครีม ชีส เค้ก น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีผลการวิจัยพบว่า การรับประทานถั่วเป็นประจำ เช่น ถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีผลช่วยลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
การป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีสามารถป้องกันได้ ดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงปกติ เพราะภาวะอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
- หากน้ำหนักเกินและวางแผนลดน้ำหนัก ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างหักโหมหรืออดอาหารมากจนเกินไป เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี การลดน้ำหนักจึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยตั้งเป้าให้น้ำหนักลดลงไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง และธัญพืชเต็มเมล็ด