หนึ่งในโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กโดยเฉพาะกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี นั้นก็คือ “โรคมือเท้าปาก (hand, foot, and mouth disease)” โรคนี้สามารถพบได้ตลอดปี แต่พบได้มากขึ้นในฤดูฝนและฤดูหนาว โดยทั่วไปอาการไม่ความรุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ได้รับด้วย ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรับมือที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้คือ การป้องกันการติดเชื้อโดยการรักษาสุขอนามัย ให้เด็กหมั่นล้างมือ รวมไปถึงการรับวัคซีนป้องกัน และหากเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรให้เด็กหยุดเรียน และแยกจากเด็ก ๆ คนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ
สารบัญ
โรคมือเท้าปาก คืออะไร?
โรคมือเท้าปาก (hand, foot, and mouth disease; HFMD) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจะมีอาการเป็นไข้ มีแผลในปาก มีผื่น มีตุ่มน้ำใสตามฝ่าเท้า ฝ่ามือ และลำตัว ซึ่งตุ่มหรือผื่นเหล่านี้จะไม่มีอาการคันร่วมด้วย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม enterovirus ในเด็กโตและผู้ใหญ่ก็สามารถป่วยเป็นโรคมือเท้าปากได้ แต่อาการในเด็กเล็กจะรุนแรงมากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักมีการแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
สาเหตุของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในลำไส้กลุ่ม เชื้อเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทยคือ คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) สายพันธุ์นี้มักมีอาการไม่รุนแรง และมักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน รองมาได้แก่ สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV71) ซึ่งเป็นชนิดที่มีความรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของโรคมือเท้าปาก
อาการเริ่มต้น
อาการของโรคมือเท้าปากจะเริ่มแสดงอาการ โดยมักมีอาการเหล่านี้
หลังได้รับเชื้อ 3-6 วัน
- อาการคล้ายไข้หวัด อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไข้สูงได้
- อ่อนเพลีย เจ็บคอ
- เบื่ออาหาร
หลังจากนั้น 2-3 วัน
- เริ่มมีแผลในปากบริเวณ ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ไปจนถึงรอบ ๆ ริมฝีปาก โดยจะมีลักษณะเป็นจุดแดง ๆ หรือตุ่มสีชมพูใส ๆ
- อาจมีผื่นที่ผิวหนังบริเวณง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขาหนีบ แขน ขา ลำตัว ข้อศอก มีลักษณะเป็นจุดแดงหรือตุ่มใสแบนหรือนูนเล็กน้อย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการคัน
- ในกรณีที่ได้รับเชื้อมือเท้าปากชนิดรุนแรง อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น หายใจหอบเหนื่อย เดินเซ ซึม อ่อนแรง ไข้สูง และชักได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์
ระยะแพร่เชื้อ
ระยะเวลาปกติตั้งแต่เริ่มรับเชื้อจนถึงระยะฟักตัวอยู่ที่ 3-6 วัน โดยระยะเวลาแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่แสดงอาการ ระยะที่แพร่เชื้อได้มากคือ หลังเริ่มแสดงอาการประมาณ 7 วันแรก
โรคมือเท้าปากอันตรายไหม?
โรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) ที่พบบ่อยในประเทศไทยมักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองในระยะเวลา 7-10 วัน แต่สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV71) จะทำให้เด็กที่ป่วยมีอาการอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาท ก้านสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจล้มเหลว เสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ดังนั้นหากเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก (หรือ HFMD) ต้องหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด และหากมีอาการรุนแรงต้องรีบพาเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
โรคมือเท้าปากติดต่อทางไหนได้บ้าง?
- ละอองฝอยจากการไอจามของผู้ติดเชื้อ
- สัมผัสกับน้ำลายหรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วนำมาสัมผัสปาก ตา หรือจมูก
- การสัมผัสโดยตรงกับแผลพุพองของผู้ติดเชื้อ
- จูบหรือกอดผู้ที่มีเชื้อไวรัส
- การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร ถ้วย ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้าร่วมกัน
- สัมผัสของเล่น พื้นผิว ลูกบิดประตู หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนแล้วสัมผัสตา จมูก หรือปาก
อย่างไรก็ตามโรคมือเท้าปากไม่ติดต่อโดยการหายใจ
วิธีการรักษาโรคมือเท้าปาก
การรักษาโรคมือเท้าปากเป็นการรักษาตามอาการ โดยวิธีการรักษาทั่วไปคือ
- เช็ดตัวลดไข้ร่วมกับการใช้ยาบรรเทาอาการปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (paracetamol) หรือไอบูโปรเฟน (ibuprofen) โดยหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (aspirin) ในเด็ก
- ทำความสะอาดแผลพุพองในช่องปากด้วยการบ้วนน้ำเกลือ
- ใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับยาแก้คันรักษาอาการผื่นที่ผิวหนัง
- รับประทานอาหารอ่อน ในเด็กเล็กควรป้อนนมแทนการดูด เพื่อลดอาการเจ็บและระคายเคืองจากแผลในช่องปาก
- หากมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากเจ็บคอรับประทานอาหารไม่ได้ สามารถใช้ยาชาชนิดกลืน Xylocaine Viscus ก่อนป้อนนมหรืออาหารอ่อน ร่วมกับการป้อนเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
โรคมือเท้าปากกี่วันหาย?
โรคมือเท้าปากสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะเเทรกซ้อนรุนแรง
การป้องกันโรคมือเท้าปาก
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่ล้างมือหลังจากใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังสั่งน้ำมูก ไอจาม
- สอนสุขอนามัยที่ดีให้กับเด็ก สอนวิธีการล้างมือ อธิบายว่าไม่ควรเอานิ้ว มือ หรือวัตถุอื่นใดเข้าปาก จมูก หรือขยี้ตา
- ทำความสะอาดสิ่งที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือมีการเบียดเสียดกัน
- ฉีดวัคซีนโรคมือเท้าปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์ที่รุนแรง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และการเสียชีวิต
- หากเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น เพราะโรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อได้ง่าย ควรให้เด็กหยุดเรียน หรือแยกตัวจากเด็กคนอื่น ๆ จนกว่าหายดีและเลยระยะแพร่เชื้อ เพื่อป้องการการแพร่ระบาด
วัคซีนโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากสามารถป้องกันด้วยวัคซีน EV71 ป้องกันการติดเชื้อ Enterovirus 71 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยแนะนำให้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 5 ปี 11 เดือน โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เข็มที่ 2 ระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตามวัคซีนไม่สามารถใช้ป้องกันโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้
โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคมือเท้าปากได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าในเด็ก ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการแสดงน้อย อาการมักไม่รุนแรง แต่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการของโรคมือเท้าปาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปยังเด็ก ๆ ในครอบครัว
สรุป
โรคมือเท้าปาก (hand, foot, and mouth disease; HFMD) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสกลุ่ม enterovirus ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ในสายพันธุ์ที่รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ในขณะที่บางสายพันธุ์อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ภายใน 7-10 วัน
ปัจจุบันยังไม่มียาที่เฉพาะสำหรับรักษาโรคมือเท้าปาก การรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการ ดังนั้นการป้องกันจึงถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดย ฝึกให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กควรหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ ของเล่น ของใช้ต่าง ๆ และหากเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กไม่ป่วย เพื่อป้องการการแพร่เชื้อ และอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นตัวเลือกในการป้องกันคือ การรับวัคซีนโรคมือเท้าปาก เพราะสามารถป้องการการติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรงที่ทำให้มีอาการที่รุนแรง และลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์รุนแรงได้