หัวใจวายเฉียบพลัน…ภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิต

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attact) หรือที่เรารู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน(Acute myocardial infarction) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการเเพทย์ที่อันตรายและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมักไม่มีสัญญาณเตือน อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ซึ่งระยะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที อาจส่งผลให้หัวใจถูกทำลายอย่างถาวรและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้คือลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หมั่นสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันคืออะไร

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attact) คือภาวะที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) เนื่องจากเกิดลิ่มเลือดอุดตันแบบฉับพลันที่บริเวณของหลอดเลือดหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับเลือดเเละออกซิเจนไปเลี้ยง ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) เป็นสาเหตุหลักของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลให้เสียชีวิตแบบกระทันหันได้

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเกิดจากอะไร

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากมีการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ไขมันเหล่านี้หากสะสมเป็นเวลานานจะรวมตัวเป็นตะกรัน (plaque) อุดตันบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ เมื่อหลอดเลือดเริ่มเสื่อมสภาพจากไขมันปริมาณมากจึงเกิดการปริแตกของผนังหลอดเลือด จากนั้นหลอดเลือดจะทำการซ่อมแซมตัวเองและเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง ทำให้หัวใจหยุดเต้นแบบกระทันหันหรือเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

อาการของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

อาการของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันที่พบได้มีดังนี้

  • แน่นหน้าอกเหมือนมีของหนัก ๆ มากดทับ 
  • เจ็บหน้าอกร้าวไปบริเวณต่าง ๆ เช่น ไหล่  กราม คอหรือบริเวณหลัง
  • หายใจหอบเหนื่อย หรือเหนื่อยขณะออกเเรง
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เวียนศรีษะหรือมีอาการหน้ามืด ใจสั่น หมดสติ
  • ในบางกรณีอาการรุนเเรง อาจพบผู้มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมีอาการ หยุดหายใจเเละหัวใจหยุดเต้น ควรโทรเเจ้งสายด่วน 1669 ทันที เพื่อทำการกู้ชีพอย่างเร่งด่วน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้แก่

  1. ความเสื่อมตามอายุโดยจะพบความเสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ตั้งเเต่ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
  2. ภาวะไขมันในเลือดสูง
  3. โรคความดันโลหิตสูง
  4. โรคเบาหวาน
  5. โรคอ้วนเเละภาวะน้ำหนักเกิน
  6. ความเครียด
  7. การสูบบุหรี่เเละการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  8. รับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงและโซเดียมสูง
  9. พันธุกรรม หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเเละโรคหลอดเลือดหัวใจ

การวินิจฉัยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • การซักประวัติเเละการตรวจร่างกายโดยเเพทย์
  • การตรวจคลื่นหัวใจ (electrocardiography; ECG หรือ EKG)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography)
  • การตรวจเลือดเพื่อดู ค่าเอนไซม์การทำงานของหัวใจ
  • การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (chest x-ray) 
  • การตรวจสวนหัวใจ (coronary artery angiography; CAG)

การรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้แก่

  • การขยายหลอดเลือดหัวใจและการใส่ขดลวด (percutaneous coronary intervention; PCI) ที่เรียกว่าการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือฉีดสีสวนหัวใจ โดยแพทย์จะทำการใส่อุปกรณ์เป็นท่อขนาดเล็กเข้าไปทางหลอดเลือด เพื่อขยายหลอดเลือดแดงบริเวณที่มีการอุดตัน ให้เลือดสามารถไหลผ่านได้ ในบางรายอาจมีการวางขดลวดเพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้กลับมาตีบซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา 
  • การรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการ ป้องกันความเสี่ยงเกิดหลอดเลือดตีบตันซ้ำ และลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจแล้วก็ตาม การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอยังมีความสำคัญและควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
  • ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery bypass grafting; CABG) คือการใช้หลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงบริเวณอื่น มาทดแทนหลอดเลือดเดิมที่มีการตีบตัน โดพิจารณาจากผู้ที่มีหลอดเลือดอุดตันหลายตำแหน่งและมีความเสี่ยงสูงในการขยายหลอดเลือดหัวใจและการใส่ขดลวด

การป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำเพื่อคัดกรองเเละเฝ้าระวังโรคเบื้องต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีขึ้นไป เเละหากมีโรคประจำตัวเรื้อรังควรออกกำลังกายตามคำเเนะนำของเเพทย์
  • เลิกสูบบุหรี่ ดื่มสุราและการใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • ปรับการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ลดการทานอาหารที่ปริมาณเกลือหรือโซเดียมสูง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • หากมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันสูง ไขมันสูง เบาหวาน ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์
  • ดูแลตัวเองไม่ให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ

สรุป

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางการเเพทย์ที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันและรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเลือดเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวหรือไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนมาก่อน สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลันคือการมีความรู้ความเข้าใจ รู้ปัจจัยเสี่ยงและวิธีการป้องกัน สังเกตอาการเตือน ซึ่งการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง