กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมีแนวโน้มเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่งผลให้การทำงานของหัวใจอ่อนแอลง ความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ในบางรายไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองหรืออาการดีขึ้นหลังการรักษา ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงอาจมีผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวายหรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สาเหตุการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีได้หลายสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในระยะยาวหากปล่อยไว้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ “สัญญาณอันตราย จากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้เพื่อรักษาได้ทันท่วงที
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คืออะไร
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือภาวะที่เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบและคลายตัวลดลง มีผลต่อการนำสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติกลายเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน (อาการแสดงน้อยกว่า 1 เดือน) และแบบเรื้อรัง (อาการแสดงมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป) ลักษณะอาการมีตั้งแต่อาการน้อยไปถึงอาการรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ซึ่งแนวโน้มเกิดในผู้ที่มีอายุน้อย ร่างกายแข็งแรงและในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบบ่อยมักมาจากการติดเชื้อไวรัส
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากอะไร
- การติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มเชื้อไวรัส เช่น อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ในไข้หวัด, อินฟูเอ็นซา (Influenza) ในไข้หวัดใหญ่, ไวรัส SARS-COV2 สาเหตุของ COVID 19, คอกซากีไวรัส (Coxsackie B viruses) สาเหตุของอาการอุจจาระร่วง, เอคโคไวรัส (Echovirus) สาเหตุของการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร, การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นต้น
- การติดเชื้ออื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย ปรสิต เชื้อรา เป็นต้น
- โรคความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคลูปัส หรือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคทากายาสุ เป็นต้น
- สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- แอลกอฮอล์
- ยาเสพติด เช่น โคเคน
- สารพิษหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ตะกั่ว หรือโลหะหนัก
- ยาบางชนิด รวมถึงยาที่ใช้รักษามะเร็ง และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ ยาต้านการชักบางชนิด วัคซีน เช่น กลุ่มวัคซีน COVID 19 เป็นต้น
อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในบางรายไม่มีอาการแสดงหรืออาจพบได้หลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 2 สัปดาห์ มีทั้งอาการที่รุนแรงและไม่รุนแรงขึ้นอยู่กับการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ และหากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ โดยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่พบบ่อยได้แก่
- เจ็บหน้าอก
- อ่อนเพลีย
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- ใจสั่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ
- หายใจลำบาก หายใจถี่ ๆ เกิดได้ทั้งขณะพักและขณะทำกิจวัตรประจำวัน
- มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย มีไข้ เจ็บคอ
การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
เมื่อสงสัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยภายในครอบครัว ยาที่ใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ รวมถึงการใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมวินิจฉัยซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจด้วย ได้แก่
- MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นความถี่วิทยุ
- PET scan คือการตรวจดูอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกายในระดับโมเลกุล
- เอกซเรย์ทรวงอก เป็นการฉายรังสีเอ็กซ์ไปที่บริเวณหน้าอก เพื่อดูขนาดและรูปร่าง ของหัวใจและปอด
- Cardiac catheterization การตรวจสวนหัวใจ นอกจากจะใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังบอกถึงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและความดันภายในหัวใจอีกด้วย
- EKG คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ
- Echocardiogram คือการตรวจคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ
- การตรวจเลือด เพื่อค้นหาสาเหตุของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระดับภูมิคุ้มกัน ในร่างกายเป็นต้น
การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของการเกิด หากอาการไม่รุนแรงสามารถดีขึ้นได้เองหรือหายได้เมื่อรับการรักษา สำหรับผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
- การรักษาด้วยยา
- ACE inhibitors ลดความดันโลหิตเพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป
- Beta blockers ลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลงและควบคุมความดันโลหิต
- Corticosteriods ใช้บรรเทาอาการอักเสบของหัวใจ
- Diuretics ยาขับปัสสาวะ ใช้ลดการสะสมของเหลวในร่างกาย
- Imunoglobulin ทางหลอดเลือดดำ เพิ่มแอนติบอดีหรือโปรตีนที่ใช้ในการต่อสู้กับการติดเชื้อผ่านหลอดเลือดดำ
- พักผ่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างน้อย 3-6 เดือนหลังได้รับการวินิจฉัย รับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของเหลวในร่างกาย
- กรณีการอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจรุนแรงต้องติดตามอาการใกล้ชิดและให้การรักษาที่เหมาะสมอื่น ๆ เช่น เครื่องช่วยพยุงหัวใจและปอด (ECMO), การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบฝัง (ICD),การใส่บอลลูนปั๊มในหลอดเลือด (IABP) ในกรณีที่การอักเสบของหัวใจรุนแรง อาจต้องได้รับการเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplantation)
ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy)
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)
- ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock)
- โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
- ปัญหาเกี่ยวกับปอด (Lung issues)
- หัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack)
สรุป
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นภาวะโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ มาพบแพทย์ตามนัด พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถลดโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติหรือสัญญาณอันตรายของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว