การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญ ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ควบคุมสมดุลของเลือด สร้างวิตามินและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและเม็ดเลือด เมื่อไตสูญเสียการทำงานไป เช่น ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อทดแทนการทำงานของไต หรือที่เรียกว่า “การฟอกไต” ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อรอการรับการรักษาโดยการปลูกถ่ายไตต่อไป 

การได้รับข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฟอกไต จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเตรียมความพร้อม และรับมือกับการฟอกไตได้ดียิ่งขึ้น เพราะโรคไตเรื้อรังและการฟอกไตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การปรับตัวเพื่อดูแลสุขภาพ และการอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เพราะผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตจำเป็นต้องมีการวางแผนเวลาสำหรับการฟอกไตด้วย

สารบัญ

ไตวายเรื้อรัง

ไตเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณด้านหลังใต้กระดูกชายโครง บริเวณบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง ขนาดเท่ากำปั้น คนปกติมีไต 2 ข้าง มีหน้าที่หลักคือขับของเสียและน้ำส่วนเกินในเลือดออกทางปัสสาวะ การทำงานนี้ต้องใช้หน่วยไตในการกรองของเสียออกจากเลือด หน่วยไตเป็นท่อที่มีขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก โดยในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไตมากถึงหนึ่งล้านหน่วยบรรจุอยู่

โรคไตเป็นโรคที่พบได้มากในปัจจุบัน เนื่องจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น โรคเบาหวานและความดันเลือดสูง  หากควบคุมโรคได้ไม่ดี จะทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง  และหากหน่วยไตถูกทำลาย จนไม่เหลือหน่วยไตที่มากพอที่จะทำหน้าที่ได้อีก เกิดเป็นภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ร่างกายจะมีของเสียและน้ำส่วนเกินคั่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นอกจากโรคเบาหวานและความดันเลือดสูงแล้ว ยังมีโรคและพฤติกรรมอื่น ๆ อีกมากที่มีผลเสียต่อไต เช่น การรับประทานยาหรือสมุนไพรที่ไม่มีการศึกษาทางวิชาการรองรับ โรคแพ้ภูมิตนเอง โรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อไต ได้แก่ โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease; PKD) เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ต้องฟอกไต?

ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ไตจะค่อย ๆ สูญเสียการทำงานลงไปเรื่อย ๆ อย่างค่อยไปเป็นไป จนถึงจุดหนึ่งที่การรักษาด้วยยาไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต เพื่อทดแทนการทำงานของไต ซึ่งภาวะเหล่านี้จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกไต

  1. มีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สาเหตุอาจเกิดจากการที่ไตสูญเสียการควบคุมสมดุลในเลือดและเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังในร่างกาย 
  2. ภาวะคั่งของโซเดียมและน้ำในร่างกาย ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะ จนทำให้น้ำเกิน และนำไปสู่ภาวะน้ำท่วมปอดได้ 
  3. ความดันเลือดสูงขึ้นอย่างผิดปกติที่ไม่ตอบสนองต่อยาลดความดัน 
  4. ภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากไตไม่สามารถทำงานควบคุมสมดุลกรดและเบสในเลือดได้ ทำให้เกิดการคั่งของกรดในเลือด
  5. ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกได้ ภาวะนี้จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  6. เกิดอาการรุนแรงจากภาวะของเสียคั่งในเลือด (uremia) เช่น มึนงง สับสน เซื่องซึม ชัก หมดสติ หรือ มีเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น

โดยทั่วไป ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมักจำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไตเมื่อการทำงานของไตลดลงจนเหลือเพียง 10-15% ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายควรดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต การมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินการทำงานของไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แพทย์พิจารณาการรักษาทดแทนการทำงานของไตก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา

ฟอกไต คืออะไร?

การฟอกไต คือการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้ายด้วยการทดแทนการทำงานของไต เพื่อกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย 

หนึ่งในวิธีการฟอกไต คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อให้เครื่องไตเทียมนี้กำจัดของเสียและน้ำแทนไตที่เสียไป  โดยทั่วไป คำว่า ฟอกไต ฟอกเลือด หรือใช้ไตเทียม ทั้ง 3 คำนี้เป็นคำสั้้น ๆ ที่ใช้เรียกการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม 

ฟอกไต เจ็บไหม?

เนื่องจากการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมจะมีการแทงเข็มเข้าไปในหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดเทียมเพื่อดึงเลือดออกจากร่างกายนำมาฟอกและนำเลือดที่ฟอกแล้วกลับเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นขั้นตอนการแทงเข็มเข้าไปในหลอดเลือด อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดได้บ้าง แต่ในระหว่างการทำงานของเครื่องไตเทียมและขั้นตอนของการฟอกเลือดจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ

การฟอกไตทําอย่างไร?

หลักการทำงานของการฟอกไต คือ การกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินให้ออกมาจากร่างกาย โดยมีวิธีการฟอกไตหลัก ๆ 2 วิธี คือ การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และ การล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis) 

  1. การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เครื่องไตเทียมจะทำงานโดยดึงเลือดออกจากร่างกายเข้าสู่เครื่องไตเทียม แล้วทำการกรองเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออกเพื่อกำจัดทิ้ง การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมนี้ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิดตามความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่ใช้ในการฟอกเลือด ส่วนประกอบโดยพื้นฐานของการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ได้แก่ เครื่องไตเทียมซึ่งจะทำหน้าที่ปั๊มเลือดและควบคุมความดันเลือด ตัวกรองฟอกเลือด และน้ำยาไตเทียม
  2. การล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis) ทำงานโดยใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อดึงของเสียให้แพร่ผ่านหลอดเลือดและเยื่อบุช่องท้องให้ออกมาในน้ำยาล้างไต แล้วจึงนำน้ำยาล้างไตออกมาทิ้ง และเปลี่ยนน้ำยาล้างไตใหม่ โดยวิธีการล้างไตทางช่องท้องยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นแบบที่ผู้ป่วยทำด้วยตนเอง (continuous ambulatory peritoneal dialysis; CAPD) และการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (automated peritoneal dialysis; APD) ซึ่งจะทำงานช่วงกลางคืนขณะที่ผู้ป่วยเข้านอน

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

ก่อนมีการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมต้องมีการผ่าตัดเตรียมหลอดเลือดสำหรับการฟอกไต  ซึ่งมักจะใช้หลอดเลือดที่บริเวณแขน โดยต้องมีการผ่าตัดเตรียมหลอดเลือดล่วงหน้าก่อนการใช้เครื่องไตเทียมประมาณ 1-2 เดือน แต่หากหลอดเลือดของผู้ป่วยบางรายเล็กเกินไปอาจต้องใส่หลอดเลือดเทียม (AV graft) 

ขั้นตอนการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมแบบดั้งเดิม (conventional hemodialysis) จะมีการต่อท่อของเครื่องไตเทียมเข้ากับที่หลอดเลือดที่แขนโดยการแทงเข็มเข้าไปที่หลอดเลือดคล้ายกับการเจาะเลือด ในเครื่องไตเทียมจะมีเยื่อเลือกผ่านที่จะทำการกรองของเสีย ให้แพร่ออกมากับน้ำยาไตเทียม (dialysate) เลือดที่ผ่านการกรองแล้วก็จะไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือดอีกครั้ง

ข้อดีของการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

เมื่อเทียบกับการล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมมีข้อดี ดังนี้ 

  1. มีประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียได้ดีกว่า 
  2. ไม่ต้องทำทุกวัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องฟอกไต 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง 
  3. มีความเสี่ยงของการติดเชื้อต่ำกว่า 
  4. เป็นหัตถการภายใต้ความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากกว่าหากเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะฉุกเฉินขึ้น

ผลข้างเคียงของการฟอกไต

การฟอกไตเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของไตได้อย่างครบถ้วนเหมือนไตตามปกติ โดยมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  1. ความดันเลือดต่ำ เนื่องมาจากการฟอกไตมีการดึงน้ำส่วนเกินออกจากเลือด หากผู้ป่วยมีอาการบวมน้ำมาก จะทำให้มีน้ำส่วนเกินถูกดึงออกไปโดยเครื่องไตเทียมมากตามไปด้วย หากดึงน้ำออกในอัตราที่เร็วเกินไป อาจทำให้ความดันเลือดต่ำลง อาจทำให้มีอาการวิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ หรืออ่อนเพลียได้
  2. เกิดการติดเชื้อ ทั้งที่บริเวณหลอดเลือดที่ใช้ฟอกไต หรือติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที
  3. เป็นตะคริว โดยมักเกิดที่บริเวณน่องในช่วงท้ายของการฟอกไตในแต่ละครั้ง สาเหตุอาจเนื่องมาจากการสูญเสียน้ำส่วนเกินจากการฟอกไต
  4. มีอาการคันที่ผิวหนัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการกำจัดน้ำที่มากเกินไปจนทำให้ผิวแห้ง หรืออาจมีการสะสมของฟอสฟอรัสในร่างกาย หรืออาจเกิดจากการแพ้สารประกอบบางตัวในเครื่องไตเทียม เป็นต้น
  5. ปวดกระดูกและข้อ เนื่องมาจากการสูญเสียแคลเซียม เพราะหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของไตคือการเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ ซึ่งวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้ร่างกายการขาดวิตามินดีและมีผลทำให้ดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้ลดลง ทำให้มีการดึงแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อรักษาระดับแคลเซียมในเลือด กระดูกจึงอ่อนแอและมีอาการผิดปกติได้ การฟอกไตอาจทำให้สูญเสียแคลเซียมมากขึ้น และทำให้มีอาการปวดกระดูกได้ 
  6. นอนไม่ค่อยหลับ หรืออาจเกิดภาวะซึมเศร้า 

ดังนั้นแล้ว หากเกิดอาการปกติใด ๆ จากการฟอกไต ผู้ป่วยไม่ควรละเลยและควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การฟอกไตแบบ Online Hemodiafiltration (OL-HDF)

การฟอกไตแบบ Online Hemodiafiltration (OL-HDF) เป็นการทดแทนการทำงานของไตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการฟอกไตแบบดั้งเดิม (conventional hemodialysis) เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีในการฟอกไตด้วยการประสานสองหลักการทำงานในการกำจัดของเสียเข้าด้วยกัน คือ การแพร่ (diffusion) และการพา (convection) ทำให้สามารถกำจัดของเสียได้มากกว่าการฟอกไตแบบดั้งเดิมที่ใช้เพียงการแพร่เท่านั้น การฟอกไตแบบ OL-HDF ยังมีการกรองสารน้ำให้กลายเป็นน้ำบริสุทธิ์เพื่อทดแทนกลับเข้าสู่ร่างกายจากเครื่อง (online dialysate preparation) ด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่า 

ข้อดีของการฟอกไตแบบ OL-HDF

  • สุขภาพกระดูกดีขึ้น ลดอาการคันที่ผิวหนัง เนื่องจากสามารถขจัดฟอสฟอรัสได้ดีขึ้น
  • ลดการอักเสบของร่างกายจากกระบวนการฟอกเลือด เนื่องจากน้ำยาฟอกเลือดมีความบริสุทธิ์สูง
  • สามารถขจัดของเสียขนาดกลางที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการฟอกเลือดแบบดั้งเดิม
  • ลดภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคไต
  • ความอยากอาหารดีขึ้น มีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น
  • ลดการเกิดความดันตกขณะฟอกเลือด
  • ลดอัตราการเสียชีวิต ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวมากกว่าการฟอกเลือดแบบดั้งเดิม 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ไตเทียม รพ. กรุงไทย

สรุป

ในปัจจุบันไตวายไม่ได้หมายถึงการสูญเสียชีวิตอีกต่อไป ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถได้รับการรักษาเพื่อทดแทนการทำงานของไต และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน การเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการฟอกไตเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวที่ดูแล และทีมแพทย์ที่ให้การรักษา ดังนั้นความเข้าใจโรคของทั้งผู้ป่วยและญาติจึงมีส่วนช่วยและส่งเสริมให้การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังประสบผลสำเร็จมากขึ้น

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง