ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญ ทำหน้าที่ขับของเสียออกทางปัสสาวะ และยังทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ต่าง ๆ ของร่างกาย และยังผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย ดังนั้นหากไตมีการทำงานที่ผิดปกติไป หรือมีภาวะ “ไตวาย” ก็จะส่งผลต่อความสมดุลของร่างกาย ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกาย และยังทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจางได้อีกด้วย และหากมีภาวะไตวายเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นไตวายต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต หรือฟอกเลือด เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่เสียไป เพื่อให้ร่างกายยังสามารถทำงานอยู่ในสภาวะสมดุลมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
สารบัญ
ไตวายคืออะไร?
ไตวาย คือภาวะที่ไตทำงานลดลงจากสาเหตุต่าง ๆ จนสูญเสียการรักษาสมดุลของเหลวภายในร่างกาย เกิดการคั่งของน้ำและของเสียในร่างกาย รวมถึงการเสียสมดุลของเเร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือดด้วย ภาวะไตวายแบ่งเป็น 2 แบบคือ
- ไตวายเรื้อรัง คือภาวะที่ไตค่อย ๆ เสียการทำงานไปทีละน้อย จนไม่สามารถทำงานได้ในที่สุด
- ไตวายเฉียบพลัน คือภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานไปแบบเฉียบพลัน ภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ หากมีการรักษาสาเหตุ ก็จะมีโอกาสที่ไตจะสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงหรือเท่ากับปกติได้
ไตวายเรื้อรัง (chonic kidney disease)
โรคไตวายเรื้อรัง หมายถึงภาวะที่มีความผิดปกติทางโครงสร้างหรือหน้าที่ของไตเป็นระยะมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และหากไตไม่สามารถทำงานได้เลยจนเกิดภาวะ “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” จะทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต อาจจะเป็นการฟอกไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือด (ฟอกไต) ผ่านเครื่องไตเทียม ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตไปตลอด ซึ่งการรักษามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเพราะต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมักกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
ไตวายเฉียบพลัน (acute kidney disease)
โรคไตวายเฉียบพลัน หมายถึงภาวะที่การทำงานของไตลดลงอย่างเฉียบพลันจากสาเหตุต่าง ๆ ที่กระทบต่อการทำงานของไต ทำให้สูญเสียการทำงานในการควบคุมสมดุลของน้ำ เเร่ธาตุ เเละการกำจัดของเสียของร่างกาย
อาการของโรคไตวาย
เนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรังและไตวายเฉียบพลันมีการดำเนินของโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาการของไตวายทั้ง 2 แบบอาจมีความแตกต่างกัน
อาการไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้
- ในระยะแรก ๆ ผู้ป่วยโรคไตวายแบบเรื้อรังมักจะยังไม่มีอาการที่สังเกตได้ จะตรวจพบเมื่อมีการตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น
- หากไม่มีการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผู้ป่วยจะแสดงอาการที่เริ่มสังเกตได้ เช่น
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- แขน ขาบวม ตาบวม (ซึ่งเกิดจากมีการคั่งของน้ำในร่างกาย)
- หายใจหอบ
- เหนื่อยง่าย
- ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะเป็นสีเลือด หรือสีน้ำล้างเนื้อ
- ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
- นอนไม่หลับ
- คันตามผิวหนัง
- เป็นตะคริว
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในผู้ชาย
- อาจมีอาการสับสน ง่วงซึม ในผู้ป่วยรายที่มีการคั่งของของเสียมาก ๆ
- ความดันสูง ปวดศีรษะเรื้อรัง
- อาจพบภาวะหัวใจวายและภาวะน้ำท่วมปอด หากมีการคั่งของน้ำในร่างกายมาก ๆ
อาการไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่มีปัสสาวะเลย
- อ่อนเพลีย มึนงง มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา
- อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- เเขนขาบวม เท้าบวม
- หายใจหอบ อาจมีอาการปวดบริเวณชายโครง
- อาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการชัก หมดสติ หรือมีภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ไตวายเกิดจากอะไร?
ภาวะไตวายสามารถเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (ไตวายเฉียบพลัน) หรือเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป (ไตวายรื้อรัง) ซึ่งทำให้การทำงานของไตเสียไป หรือทำงานได้น้อยลง
สาเหตุไตวายเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ผู้ป่วยโรคความดัน ที่ควบคุมความดันไม่ดี มีความดันสูงอยู่นาน ๆ
- ผู้ป่วยโรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease; PKD)
- โรคไตอักเสบ (glomerular disease)
- โรคลูปัส หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (systemic lupus erythematosus; SLE) ซึ่งคนไทยมักเรียกกันว่าโรคพุ่มพวง
- ผลจากข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือที่มักเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ ยาแก้ปวดข้อแก้ปวดกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ และยาลดความอ้วนบางตัว ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
สาเหตุไตวายเฉียบพลัน
มักเกิดจากสาเหตุที่ทำให้ไตเสียการทำงานอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน หากสามารถรักษาสาเหตุได้ การทำงานของไตก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ แต่หากไม่สามารถรักษาสาเหตุ หรือแก้ไขภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้ โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันอาจเกิดจาก
- โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านไตของตัวเอง (autoimmune kidney diseases)
- การได้รับยาบางชนิด ที่มีผลต่อการทำงานของไต
- ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
- มีภาวะการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
- การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดของไตเสียไปด้วย
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ที่ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อไต
- การได้รับสารพิษบางอย่าง ทำให้ไตทำงานหนักเพื่อขับสารพิษนั้น จนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ระยะของโรคไตวาย
ระยะของไตวายเรื้อรัง
โดยสามารถเเบ่งตามอัตราการกรองของไต หรือแบ่งตามค่า estimated glomorular filtration rate (eGFR) เป็นค่าที่บ่งบอกความสามารถของไตในการกรองของเสียออกจากเลือดในแต่ละนาที
ระยะที่ 1: ไตทำงานมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ไตยังทำงานอยู่ในภาวะปกติ แต่เริ่มตรวจพบความผิดปกติของไต เช่น ปัสสาวะมีตะกอน หรือพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าปกติ
ระยะที่ 2: ไตทำงานได้ 60-89% เป็นระยะที่ไตเริ่มทำงานลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะยังไม่มีความผิดปกติใด ๆ จะตรวจพบความผิดปกติเฉพาะค่า eGFR แพทย์อาจเรียกระยะนี้ว่า “ไตวายเรื้อรังระยะเริ่มต้น”
ระยะที่ 3: ไตทำงานได้ 30-59% ระยะนี้ผู้ป่วยจะยังคงไม่มีอาการของภาวะไตวายที่ชัดเจน แต่ค่า eGFR จะลดลงไปเรื่อย ๆ หรืออาจเรียกระยะนี้ว่า “ไตวายเรื้อรังระดับปานกลาง”
ระยะที่ 4: การทำงานของไตเหลือเพียง 15-29% อยู่ในภาวะที่เริ่มมีอาการของโรคไตเรื้อรังชัดเจนขึ้น เช่น น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร มีอาการคันตามผิวหนัง เป็นตะคริวบ่อย มึนงง เริ่มมีอาการแขนขาบวม ข้อบวม เท้าบวม ปัสสาวะปริมาณน้อยลงแต่ปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจมีภาวะซีดร่วมด้วย อาจเรียกระยะนี้ว่า “ไตวายเรื้อรังระดับรุนแรง” ในระยะนี้เเพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มฟอกไต
ระยะที่ 5: ไตทำงานได้น้อยกว่า 15% หรือเรียกว่า “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการของโรคไตวายชัดเจนขึ้น บางรายอาจไม่มีปัสสาวะเลย โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต เพราะไตไม่สามารถขับของเสียได้ เเละหากไม่ทำการฟอกไตผู้ป่วยจะมีภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะเเทรกซ้อนที่รุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระยะของไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจแบ่งระยะของโรคไตวายเฉียบพลันได้เป็น
ระยะที่ 1 | ปัสสาวะน้อยกว่า 0.5 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมง เป็นเวลา 6-12 ชั่วโมง | ค่าครีอะตินีน (creatinine)ในเลือดสูงกว่าระดับปกติของร่างกาย 1.5–1.9 เท่า หรือ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 0.3 mg/dl ขึ้นไป |
ระยะที่ 2 | ปัสสาวะน้อยกว่า 0.5 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมงตั้งแต่ 12 ชั่วโมงขึ้นไป | ค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าระดับปกติของร่างกาย 2.0–2.9 เท่า |
ระยะที่ 3 | ปัสสาวะน้อยกว่า 0.3 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมงตั้งแต่ 24 ชั่วโมงขึ้นไป หรือ ไม่มีปัสสาวะออกเลยตั้งแต่ 12 ชั่วโมงขึ้นไป | ค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าระดับปกติของร่างกายตั้งแต่ 3 เท่า หรือมีค่าครีเอตินีนตั้งแต่ 4.0mg/dl ขึ้นไป |
ภาวะเเทรกซ้อนจากโรคไตวาย
โรคไตวายอาจทำให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
- ภาวะโลหิตจาง
- มีอาการบวมตามร่างกาย หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด
- ความดันสูง
- โรคหัวใจเเละหลอดเลือด
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- เเร่ธาตุในเลือดผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภูมิคุ้มกันต่ำ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ภาวะกระดูกบาง เเละเเตกหักง่าย
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- เกิดการสะสมของเสียภายในเลือด ทำให้เกิดการทำลายระบบประสาท มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มีภาวะสับสน หากรุนเเรงอาจมีอาการชักได้
การวินิจฉัยภาวะไตวาย
- การซักประวัติ และตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะไตวาย รวมถึงอาการต่าง ๆ ของภาวะไตวาย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจเลือด เพื่อประเมินการทำงานของไต (eGFR, BUN, creatinine) และการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูการปนเปื้อนของโปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- การตรวจอัลตราซาวนด์ไต เพื่อดูโครงสร้างของไต
- การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (หรือ CT scan) เพื่อประเมินลักษณะของไตเเละประเมินการอุดกั้นในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การวัดปริมาณปัสสาวะเพื่อนำไปคำนวนเเละเเบ่งระยะโรคไตวาย
อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยภาวะไตวายเรื้อรังต้องตรวจโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด
โรคไตวายรักษาหายไหม?
ภาวะไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่รักษาให้หายได้ หากสามารถแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งส่วนใหญ่หากรักษาได้ทันท่วงที การทำงานของไตก็จะกลับมาทำงานได้เหมือนปกติหรือใกล้เคียงปกติ
ส่วนภาวะไตวายเรื้อรังมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแนวทางการรักษาจะเป็นการชะลอความเสื่อมของไต และหากไตไม่สามารถทำงานขับของเสียได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต เพื่อกำจัดของเสียที่คั่งอยู่ในร่างกาย โดยผู้ป่วยสามารถฟอกไตได้ 2 วิธีคือ การฟอกไตผ่านทางหน้าท้อง และการฟอกไตหรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
อย่างไรก็ตามการรักษาที่ดีที่สุดของภาวะไตวายโดยเฉพาะภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือการปลูกถ่ายไต ซึ่งหากมีการวางแผนการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต การฟอกไตจะเป็นการรักษาเพื่อรอการปลูกถ่ายไตในอนาคต
การป้องกันภาวะไตวาย
- ตรวจคัดกรองโรคไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง เบาหวาน ควรควบคุมอาการของโรค
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- ไม่ซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบ ยาชุด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ของภาวะไตเทียม
สรุป
ภาวะไตวายสามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาสุขภาพ และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะภาวะไตวายระยะแรก ๆ จะไม่พบอาการผิดปกติ ดังนั้นการตรวจสุขภาพจะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากกว่า
และหากมีภาวะไตวายแล้วการเข้ารับการตรวจและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปฏิบัติตัวและปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ก็จะช่วยให้รักษาการทำงานของไตไว้ได้ แต่หากไตวายอยู่ในระยะที่รุนแรงแรงแล้วผู้ป่วยก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการฟอกไต หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น สามารถทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันได้