การผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก หายเร็ว เทคนิคใหม่ที่ช่วยให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

การผ่าตัดส่องกล้อง

หากพูดถึงการผ่าตัด หลายคนมักนึกถึงแผลผ่าตัดเเละแผลเป็นหลังผ่าตัดที่มีขนาดใหญ่  และความรู้สึกเจ็บแผลผ่าตัด รวมระยะการพักฟื้นหลังผ่าตัดที่ใช้เวลาหลายวันหรืออาจนานเป็นสัปดาห์ แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่มีแผลเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตภายหลังการผ่าตัดที่ดีขึ้น

สารบัญ

การผ่าตัดส่องกล้องคืออะไร?

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง คือ เทคนิคการผ่าตัดที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กลง โดยใช้เทคนิคส่องกล้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดเนื้อเยื้อหรือบริเวณอวัยวะที่ต้องการผ่าตัด 

โดยปกติแล้วเทคนิคการผ่าตัดจะมี  2 ประเภท หลัก ๆ คือ การผ่าตัดแบบเปิด (open surgery) คือการผ่าตัดเปิด เนื้อเยื้อ เพื่อให้เห็นอวัยวะหรือบริเวณที่ต้องที่ต้องการผ่าตัดโดยมักมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่และมักใช้ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง ทำให้แผลผ่าตัดใหญ่กว่าทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าและพักฟื้นนานกว่า และการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (minimal invasive surgery) ที่แผลเล็กกว่า แผลหายเร็วกว่า เจ็บน้อยกว่า ซึ่งทำให้เป็นตัวเลือกการผ่าตัดที่น่าสนใจในปัจจุบัน

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง

  1. มีแผลผ่าตัดและแผลเป็นหลังหลังผ่าตัดขนาดเล็ก หรือไม่มีแผลเลย เช่น การผ่าตัดโดยผ่านทางอวัยวะที่มีลักษณะเป็นรูหรือเป็นช่องอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องมีการกรีดเพื่อเปิดผิวหนังเช่น รูจมูก หลอดอาหาร ช่องคลอด และทางทวารหนัก
  2. ระยะการพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นกว่า ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล และสามารถกลับมาทำกิจกรรมและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติได้เร็วขึ้น
  3. มีความปลอดภัยและภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดน้อยกว่า เนื่องจากลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด และการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยกว่า
  4. ช่วยลดอาการเจ็บปวดและบอบช้ำหลังผ่าตัด เนื่องจากระยะเวลาการผ่าตัดสั้นกว่า
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดแบบส่องกล้องใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?

  1. การผ่าตัดส่องกล้องโรคทางช่องท้อง:โดยเป็นการผ่าตัดเเรกที่เริ่มนำการผ่าตัดแบบส่องเข้ามาใช้ โดยเเพทย์จะทำการเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณช่องท้องจากนั้น จะสอดท่อที่มีกล้องฉายภาพมายังหน้าจอ หรือบางกรณีอาจมีการสอดท่อเพื่ออัดแก๊สเข้าไปในช่องท้องเพื่อทำให้สะดวกในการผ่าตัดมากขึ้น โดยโรคที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องท้อง ได้แก่
    • การผ่าตัดส่องกล้องไส้ติ่ง 
    • การผ่าตัดส่องกล้องไส้เลื่อน 
    • การผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดี
  2. การผ่าตัดส่องกล้องโรคทางนรีเวช: แพทย์จะทำการสอดกล้องที่มีขนาดเล็กเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดชิ้นเนื้อออกมาเพื่อตรวจวินิจฉัย หรือผ่าตัดเนื้องอก ซีสต์ บริเวณมดลูกหรือบริเวณรังไข่ โดยโรคที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง ได้แก่ 
    • การผ่าตัดส่องกล้องมดลูก
    • การผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำบริเวณรังไข่
  3. การผ่าตัดส่องกล้องโรคทางทรวงอก: เเพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดเเผลขนาดเล็กบริเวณซี่โครง เพื่อสอดท่อที่มีกล้องความคมชัดสูง ท่อที่ใช้สำหรับนำอุปกรณ์ หรือ แขนของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เข้าไปในบริเวณช่องอก โดยโรคที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง เช่น  
    • การผ่าตัดส่องกล้องลิ้นหัวใจ (ในบางกรณี) 
    • การผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกในหัวใจ (ในบางกรณี) 
  4. การผ่าตัดส่องกล้องโรคในระบบทางเดินหายใจ: เเพทย์จะทำการสอดกล้องเข้าทางจมูก หรือ ทางปากเพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดก้อนเนื้อหรือเนื้อร้ายบริเวณคอ หลอดลม ปอด เเละในบางกรณีสามารถเข้าไปผ่าตัดเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปอุดตันหลอดลมออกได้
  5. การผ่าตัดส่องกล้องโรคกระดูกสันหลังเเละหมอนรองกระดูกสันหลัง: โดยการทำการเจาะรูขนาดเล็กที่บริเวณกระดูกสันหลังแล้วสอดท่อที่มีความยืดหยุ่นเเละกล้องขนาดเล็ก โดยขณะผ่าตัดแพทย์จะดูภาพ X-ray แบบ real time เพื่อรักษาความผิดปกติของข้อต่อกระดูกสันหลังหรือแก้ไขการกดทับของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเเละเส้นประสาทไขสันหลัง
โรคที่รักษาแบบผ่าตัดส่องกล้องได้

การผ่าตัดส่องกล้องเจ็บไหม?

การผ่าตัดส่องกล้องจะใช้วิธีระงับความรู้สึกหรือดมยาสลบระหว่างผ่าตัด โดยภายหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บและมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณแผลผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดส่องกล้องใช้เวลากี่ชั่วโมง?

ระยะเวลาในการผ่าตัดส่องกล้องขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น ในบางโรคใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า  1 ชั่วโมง หรือบางโรคอาจจะนานถึง 6 ชั่วโมง ขึ้นกับความซับซ้อนของโรค

การผ่าตัดส่องกล้องพักฟื้นกี่วัน?

การผ่าตัดแบบส่องกล้องใช้เวลานอนโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หรือในบางโรคอาจผ่าตัดช่วงเช้าและสามารถกลับบ้านได้เลยในช่วงเย็น โดยหลังออกจากโรงพยาบาลใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ และจะฟื้นตัวเต็มที่ในเวลา 4-6 สัปดาห์

ขั้นตอนและการเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดส่องกล้อง

  1. ทางทีมแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย  และซักประวัติผู้ป่วยถึงโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ เพื่อประเมินแล้วจึงแจ้งข้อมูลวิธีการการผ่า การวางยาสลบ ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดแก่ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยต้องเซ็นยินยอมและรับทราบข้อมูลทั้งหมดก่อนได้รับการผ่าตัด
  2. งดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารและน้ำย่อยระหว่างผ่าตัด โดยอาจจำเป็นต้องงดยาบางประเภทก่อนการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการงดยาต่าง ๆ 
  3. ผู้ป่วยต้องทำความสะอาดร่างกาย  สระผม ตัดเล็บ และต้องถอดเครื่องประดับและของมีค่า ห้ามทาเล็บ และแต่งหน้าก่อนการผ่าตัด
  4. ในการผ่าตัดบางประเภทอาจต้องสวนทำความสะอาดบริเวณที่ต้องผ่าตัดก่อน เช่น การผ่าตัดช่องท้องและทหารหนัก

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง

  1. ไม่สามารถส่องกล้องผ่าตัดในโรคที่มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้การเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ เช่น การผ่าตัดเปิดทรวงอกเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดแดงใหญ่
  2. ไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงร้ายแรงระหว่างผ่าตัดเช่น โรคหัวใจและโรคระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง
  3. แพทย์ที่ทำการผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
  4. ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยผ่าตัดในอดีตและมีผังผืดเกาะรั้งบริเวณแผลผ่าตัดอาจไม่สามารถทำการผ่าตัดส่องกล้อง ได้เช่น การผ่าตัดช่องท้อง ทั้งนี้แพทย์ผู้ผ่าตัดจะพิจาณาเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด

สรุป

การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดขนาดแผลผ่าตัด ลดการบาดเจ็บ ลดภาวะแทรกซ้อน เเละลดระยะเวลาการพักฟื้นหลังผ่าตัด โดยต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน เช่น ความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัดและยังขึ้นกับการเตรียมตัวของผู้ป่วย ก่อนผ่าตัดเเละการดูแลหลังผ่าตัด โดยปัจจัยทั้งหมดจะช่วยให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จ ลดความเสี่ยง เเละภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้อย่างมาก

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง